Special Tips

ระบบดีเซล “คอมมอนเรล” รู้จักไว้จะได้ “สนิท” (ใจ) หาคำตอบแบบกระจ่าง จะได้ไม่โดนหลอก

โลกสมัยใหม่ กับ เทคโนโลยียานยนต์ที่ก้าวไกลขึ้นทุกวัน ซึ่งการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ล้วนแล้วแต่เพิ่มสมรรถนะให้กับตัวรถ รวมถึง การประหยัดเชื้อเพลิง ลดมลภาวะให้กับโลก รวมถึงเครื่องยนต์ที่สมัยก่อนถูกตรงหน้าว่า “เป็นตัวก่อมลพิษ” อย่างมาก ก็คือ “เครื่องยนต์ดีเซล” ที่ถูกผลิตขึ้นมาสำหรับการใช้งานหนัก เช่น รถกระบะ รถบรรทุก อุตสาหกรรมหนักๆ เรียกว่า “สีทนได้” จริงๆ ต่างจากเครื่องเบนซินที่เน้นการใช้งานไม่หนักมาก เน้นความเร็วและแรงม้า ดังนั้น เครื่องดีเซลในยุคเก่าๆ มักจะอยู่ในรถบรรทุกเท่านั้น เน้นใช้งานแบบทรหด ไม่ต้องดูแลรักษาอะไรมันมาก คนทั่วไปไม่อยากได้ เพราะทั้งดัง ทั้งสั่นสะเทือน ทั้งปล่อยควันดำ รอบก็ไม่จัด วิ่งก็ไม่เร็ว มีแต่แรงถึกๆ แต่ !!! ปัจจุบัน มันไม่ใช่ยังงั้นแล้วน่ะสิครับ…
ทำไม ??? เครื่องดีเซลวิ่งกันเกลื่อนเมือง
ทำไม ??? เครื่องดีเซลถึงถูกใช้ในรถหรูราคาแพงระยับ
ทำไม ??? เครื่องดีเซลมีสมรรถนะที่ร้อนแรง แถมประหยัดกว่าเครื่องเบนซินในระดับเดียวกัน
ทำไม ??? ทำไม ??? และ ทำไม ???
เราจะมาหาคำตอบกัน ว่า “ดีเซลยุคไฮเทค” มันมาตีตลาดเบนซินจนกระจุยกระจายได้อย่างไร ครั้งนี้เป็น “ปฐมบท” รู้จักกันก่อน ว่ามันคืออะไร บอกก่อนว่าเราไม่นำเสนอศัพท์แสงเทคนิคยากๆ เน้นเรื่องซับซ้อนๆ พวกนี้ เราพร้อมจะนำเสนอสิ่งที่ “ง่าย” แต่ “ได้ความรู้” ที่ทุกคนสามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ ที่สำคัญ คือ “นำความรู้ไปใช้ได้” !!! ไม่ใช่อ่านจบแล้วอารมณ์ค้าง ตกลงกูอ่านไปทำไม เอาไปใช้อะไรได้วะ เราไม่ใช่แนวนั้นครับ ไว้โอกาสหน้าจะแตกยอดไปเป็นระบบเด่นๆ ของค่ายรถยนต์ต่างๆ ทั้งญี่ปุ่นและยุโรปกัน…
คอมมอนเรล ดีเซลเปลี่ยนโลก

รถหรู MERC-BENZ ระดับเรือธงของค่ายยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ต่างก็มีเครื่องดีเซล คอมมอนเรล ใช้กันทั้งสิ้น ณ ตอนนี้ ก็พัฒนาไปไกล เสียงและแรงสั่นสะเทือนต่ำลง แรงม้าสูง แรงบิดมหาศาล แม้จะไม่ใช่เครื่องยนต์ซีซีมาก แต่ก็พาร่างใหญ่ยักษ์ของรถเหล่านี้ปลิวลมไปได้รวดเร็ว

จากเดิม ดีเซลจะใช้เป็นระบบ “ปั๊มกลไก” หรือ “ปั๊มสาย” ตามภาษาชาวบ้าน อันนี้เป็นแบบเบสิคจริงๆ เพราะการจ่ายเชื้อเพลิงจะจ่ายตามปั๊มที่หมุนไป โดยพ่วงกับข้อเหวี่ยง หมุนในอัตราส่วน 2 : 1 ข้อเหวี่ยงหมุน 2 รอบ ปั๊มหมุน 1 รอบ จ่ายน้ำมัน 4 ครั้ง จุดระเบิดโดยใช้ “กำลังอัดสูง” ถึงกว่า 20 : 1 การอัดอากาศให้มีปริมาตรเล็กลงจากก้อนใหญ่ๆ สิ่งหนึ่งที่ตามมา คือ “ความร้อน” จากการเสียดสีของอากาศ โมเลกุลถูกอัดแน่น เมื่อมีความร้อนสูงรอแล้ว น้ำมันก็จะถูกฉีดเข้าห้องเผาไหม้ ทำให้เกิดการจุดระเบิดได้โดยไม่ต้อง “ง้อหัวเทียน” จุดประกายไฟเหมือนเครื่องเบนซิน ไม่ต้องง้อระบบไฟฟ้าในการจุดระเบิดแต่อย่างใด ง่ายๆ แบบนี้ ถึงมีความทนทานสูง มีแรงบิดเยอะในรอบต่ำกว่าเครื่องเบนซินความจุเท่ากันอย่างมาก ประหยัดน้ำมัน แต่ก็ต้องแลกกับหลายสิ่งกับกำลังอัดที่สูงมากๆ คือ รอบปลายมีน้อย แรงสั่นสะเทือนมาก เสียงดัง เครื่องมีน้ำหนักมาก วิ่งได้ไม่เร็ว ได้แต่แรงบิดไว้ฉุดลาก ดังนั้น เครื่องดีเซลยุคเก่าก่อน จึงถูกใช้เฉพาะรถเพื่อการพาณิชย์เท่านั้นหลังจากนั้นมา ก็มีการคิดค้นระบบ “ปั๊มไฟฟ้า” ที่จะมีระบบอิเล็กทรอนิคส์ EFI ที่มี “กล่อง ECU” มาควบคุมการจ่ายน้ำมันให้แม่นยำตามเงื่อนไขการขับขี่ เริ่มมีความทันสมัยขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง โดยได้เรื่องสมรรถนะและความประหยัดเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นยุคกลางๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่สุด…

อย่างค่ายรถหรูที่เน้นสมรรถนะแบบสปอร์ตอย่าง BMW ที่ออกรุ่น 750d xDrive ขับเคลื่อนสี่ล้อมา สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม/ชม. ได้ในเวลาเพียง 4.9 วินาที !!!

ต่อมา จึงมีการคิดค้นระบบ Common-Rail หรือ “คอมมอนเรล” ขึ้นมา โดยบริษัท Swiss Federal Institute of Technology ในเมืองซูริค ตั้งแต่ปี 1960 โดยเจตนาแรกเริ่ม คือ สร้างรางหัวฉีดขึ้นมา และมีตัวกำหนดแรงดันในรางหัวฉีด รวมถึงพัฒนาปั๊มดีเซลให้มีแรงดันสูงมากๆ อยู่ในระดับเกินกว่า 10,000 PSI และดันผ่านรูหัวฉีดที่มีความเล็กมากในระดับ “ไมครอน” เพื่อให้น้ำมันถูกฉีดออกมาเป็นละอองฝอยมากที่สุด บางคนก็เทียบกับ “ผงแป้ง” เพื่อให้คลุกเคล้ากับอากาศได้เร็ว จุดระเบิดได้สะอาด หมดจด พยายามลดมลพิษให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในยุคนั้น ทำให้เครื่องดีเซลที่ใช้ระบบคอมมอนเรลมีสมรรถนะที่สูงขึ้น มลพิษต่ำลง แต่ตอนนั้นก็ยังไม่แพร่หลายนักเพราะต้นทุนสูงกว่าปกติมาก ก็เลยยังใช้ปั๊มกลไกกันอยู่…

ยุคปั๊มไฟฟ้าเฟื่องฟู
ขอกล่าวกันแบบ “ตัดวาร์ป” กันเลยนะครับ มาสู่โลกปัจจุบัน กล่าวถึงเฉพาะในบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเรา “สยามประเทศ” เริ่มจะได้สัมผัสความทันสมัยของเครื่องดีเซลในยุค “ปั๊มไฟฟ้า” ประมาณยุค 90 จนมาถึงยุค มิลเลนเนียม สมัยนั้นปั๊มไฟฟ้าก็นิยมกันมาก อย่าง TOYOTA ก็มีระบบ EFI ที่ขายกันเป็นทางการก็เครื่อง 5L-E ใน TIGER หรือ SPORT RIDER รุ่นแรก แต่ก็รู้กันว่า “โคตรอืด” เพราะไม่มีเทอร์โบมาช่วย ตอนหลังจึงเป็นยุคของ “ปั๊มไฟฟ้า บวก เทอร์โบ” มันถึงจะค่อยมันส์หน่อย ก็มาเป็นเครื่อง 1KZ-TE ที่มีเรี่ยวแรงถึง 140 แรงม้า ในความจุ “สามพันซีซี” ขับมันส์ ฟิลลิ่งดุดันดี แต่ “ซด” เอาเรื่อง ตามตีนของความมันส์ ส่วน ISUZU ก็ออก DRAGON EYE เครื่อง 4JB1 เทอร์โบ จนมาถึง D-MAX ตัวแรก ก็ยังเป็นปั๊มไฟฟ้าอยู่ แต่เสียดายที่ระบบฝาสูบยัง “โบราณ” อยู่ เป็น โอเวอร์เฮดวาล์ว เหมือนเก่า ทั้งๆ ที่คู่แข่งไปถึง โอเวอร์เฮดแคมชาฟต์ แบบใหม่กันหมดแล้ว ส่วน NISSAN ยุคนั้นก็ FRONTIER กับเครื่อง ZD30DDT ที่เป็นฝาสูบแบบ “ทวินแค็ม” DOHC 16 วาล์ว ที่ชิงเปิดตัวก่อนใคร ว่าเป็นเครื่องดีเซล ทวินแค็ม 16 วาล์ว รุ่นแรกในเมืองไทย ให้พลังได้ถึง 155 แรงม้า ด้วยเทคโนโลยี M-FIRE ที่จ่ายน้ำมันในการจุดระเบิดมากกว่า 1 ครั้ง ที่ “ศูนย์องศาตายบน” ฉีกทฤษฏีการจุดระเบิดที่ต้องฉีดก่อนศูนย์ตายบน เพื่อให้ส่วนผสมเริ่มลุกแล้วฉีดซ้ำอีกทีให้เผาไหม้ได้รุนแรง แม้จะแลดูทันสมัย แต่มันก็ยังไม่ใช่ระบบคอมมอนเรลอยู่ดี…

TOYOTA HILUX TIGER D-4D ที่เป็นตัวเปิดศักราชของกระบะดีเซลคอมมอนเรล ใช้เครื่อง 16 วาล์ว รุ่นแรกของเมืองไทย

ตัดวาร์ป DENSO ผู้เปิดโลก Common-Rail ให้วงการกระบะเมืองไทย
จำได้ในปี 2002 สมัยที่ข้าพเจ้ายัง “ละอ่อน” เข้าสู่วงการสื่อสายยานยนต์ปีแรก ในช่วงกลางปี TOYOTA ได้เปิดตัวระบบ “ดีเซล คอมมอนเรล” ใหม่ คือ D-4D “ดีโฟร์ดี” หรือ Direct Injection 4 Stroke Diesel Engine ที่ผลิตโดย DENSO คนตื่นเต้นว่าอะไรวะคอมมอนเรล ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากของคนไทย และเปลี่ยนเครื่องยนต์มาเป็นตระกูล KD โดยมี 1KD-FTV สามพันซีซี 140 แรงม้า อยู่ใน TIGER และ SPORT RIDER ตัวใหม่ และ 2KD-FTV สองพันห้าร้อยซีซี มีทั้งแบบ “ไม่มีอินเตอร์” ในพวกกระบะหัวเดี่ยว 116 แรงม้ามั้งถ้าจำไม่ผิด แต่ถ้าเป็นตัว “มีอินเตอร์บน” ในพวกตัวแค็บหรือสี่ประตู มีแรงม้า 125 ตัว และที่สำคัญ เป็นฝาสูบแบบ “ทวินแค็ม 16 วาล์ว” แล้ว ซึ่งมีการโฆษณาว่า เป็นเครื่องดีเซล คอมมอนเรล ทวินแค็ม 16 วาล์ว หรือ 4 วาล์วต่อสูบ ครั้งแรกในเมืองไทย !!!

เครื่องยนต์ 1KD-FTV คอมมอนเรลรุ่นแรกที่ใช้ในเมืองไทย และยังใช้อยู่ในปัจจุบัน

ปรับปรุงมาอีกยุค VIGO และ VIGO CHAMP ที่มีเรี่ยวแรงถึง 163 แรงม้า ก่อนจะเปลี่ยนเป็น REVO

ISUZU D-MAX ไฟเพชร ที่เป็นคอมมอนเรลรุ่นแรกของค่าย ด้วยขุมพลังตัวท๊อป 4JJ1-TCX ที่มีเรี่ยวแรง 150 กว่าแรงม้า แต่ได้เรื่องความประหยัดสไตล์อีซูซุ ซึ่งเครื่องจากรุ่นนี้แหละที่ฮิตระเบิดระเบ้อ เพราะ “ทำแรงแล้วประสบความสำเร็จสูงสุด” จนเป็นกระแสแบบฉุดไม่อยู่ในหมู่คนใช้งาน และ คนแต่งกระบะซิ่ง จนมาถึง All New D-MAX

ในยุคที่คอมมอนเรลเฟื่องฟู D-MAX จะเป็นรถยอดนิยมในการแต่งมากที่สุด เพราะเครื่องยนต์ทำแรงม้าขึ้นได้ง่ายกว่ากระบะค่ายอื่น

ในยุคนั้น TOYOTA ได้รับความนิยมสูงมาก เพราะสมรรถนะโดดเด่น ประหยัดน้ำมันกว่าเดิม แต่ก็มีข้อกังขาว่า “พังแล้วซ่อมแพงแน่ๆ” เลยยังมีคนบางกลุ่มไม่กล้ารับ ตอนหลังเริ่มแพร่หลาย อะไหล่ถูกลง ช่างซ่อมมีประสบการณ์มากขึ้น เหมือนกับเป็น “ตัวเบิกทาง” เป็นหลักปี จน “ชัวร์” ซะก่อนว่า “รอด” จึงมีกระบะค่ายอื่นๆ นำระบบคอมมอนเรลมาใช้ในยุคที่ VIGO ออกจำหน่ายแล้วในปี 2004 ซึ่งก็ได้พัฒนาเป็น “ยุคใหม่” มีแรงม้าถึง 163 ตัว ใน 1KD-FTV ที่พัฒนาเพิ่มแรงดันหัวฉีดและเพิ่มบูสต์มากขึ้น จนตอนหลังเป็นระบบคอมมอนเรลกันหมดแล้ว เพราะทั้งแรงกว่า ประหยัดกว่า มลพิษต่ำกว่า เป็นโลกดีเซลยุคใหม่แล้วครับ…
ส่วนในรถค่ายยุโรป จำได้ว่าถ้าเป็นรถเก๋ง ค่ายแรกๆ ในเมืองไทย คือ VOLKSWAGEN PASSAT TDi ที่เล่นเอาเครื่อง 1.9 ลิตร !!! แค่นี้เอง จากการที่ได้ทดสอบ ทำความเร็วได้ระดับ 200 กม/ชม กว่าๆ เฉยเลย ไม่มีใครคาดคิดว่าเครื่องแค่พันเก้ามันจะวิ่งได้ แถมยังประหยัด ตอบสนองดีอีกด้วย เสียงก็เงียบ ยุคนั้นก็มีพวกรถที่ค่าย “ยนตรกิจ” เอาเข้ามา อย่าง SKODA แต่ก็ยังไม่ถือว่าบูมเหมือนสายกระบะ ที่ฮอตฮิตมาจนถึงปัจจุบัน ใครจะเชื่อว่ามันมาแรงถึงขั้นนี้ได้…

ขุมพลังคอมมอนเรลแห่งยุคนี้ คือ 4JJ1-TCX ที่นิยมมากๆ ทั้งในการใช้งาน และที่สำคัญ “โมดิฟาย” กันแบบหนักหน่วง จนตอนนี้สามารถทำแรงม้าได้มากกว่า “พันตัว” และทำเวลาควอเตอร์ไมล์ได้ในระดับ “เจ็ดวินาทีกลางๆ” กันแล้วกับรถเฟรมรุ่นโอเพ่น พี่ๆ เบนซินว่าไง

คอมมอนเรล ทำไมถึงแรง
พูดง่ายๆ นะครับ คำว่า “คอมมอน” คือ “การร่วม” ส่วน “เรล” คือ “ราง” ความหมายคือ “รางร่วม” !!!
ไอ้ที่มันดีก็มาจากว่า เมื่อปั๊มคอมมอนเรลที่ผลิตแรงดันได้สูงถึงระดับ 180 MPa (เมกะปาสกาล) หรือ กว่า 26,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ส่งแรงดันมาเก็บไว้ที่รางหัวฉีด ควบคุมโดยวาล์วท้ายรางอีกทีว่าจะให้คงกักแรงดันไว้เท่าไร หรือ ปล่อยกลับสู่ถังเท่าไร ตามการสั่งการของกล่อง ECU ก่อนจะส่งน้ำมันแรงดันสูงไปยังหัวฉีด ที่ฉีดได้ละเอียดเป็นฝอยดั่งผงแป้งอย่างที่บอกไป ซึ่งยังสั่งเงื่อนไขการฉีดได้อีกมากมาย ในปัจจุบัน สามารถตั้งฉีดได้ถึง 5 จังหวะ ใน 1 Stroke คือ ฉีดล่อ ให้เชื้อเพลิงผสมกับอากาศก่อนจะมา ฉีดก่อนจังหวะจุดระเบิด เพิ่มความเข้มข้นของส่วนผสม พร้อมที่จะระเบิดได้รวดเร็ว จังหวะต่อไป ฉีดหลัก เป็นการฉีดเพื่อให้จุดระเบิดได้อย่างรุนแรง ก่อนจะมี ฉีดไล่ เพื่อเผ่าเขม่าคาร์บอนที่หลงเหลือให้สะอาดหมดจด และ ฉีดโพสต์ เพื่อให้น้ำมันโปรยมาลดอุณหภูมิไอเสีย ซึ่งปกติรถบ้านเราจะฉีดสองจังหวะเป็นหลัก คือ ฉีดล่อ และ ฉีดหลัก แต่การฉีด 5 จังหวะ จะมีในรถยุคใหม่ๆ ที่ต้องผ่านกฏหมายมลพิษ Euro 5-6 ที่มีผลบังคับใช้…

ระบบคอมมอนเรลใครว่าซับซ้อน จากปั๊มแรงดันสูง อัดเข้า “รางร่วม” ที่เป็นที่มาของคำว่า คอมมอนเรล ไม่เหมือนปั๊มกลไกที่ “สูบใครสูบมัน” ระบบมันมีแค่นี้จริงๆ เพียงแต่ว่ารายละเอียดภายในต่างๆ มันมีความละเอียดและความแข็งแรงสูง ต้องทนแรงดันกว่าสองหมื่นปอนด์ได้ รวมถึงระบบควบคุมเครื่องยนต์ที่ต้องละเอียดและรวดเร็วเช่นกัน เพื่อการจุดระเบิดที่สมบูรณ์ใช้เชื้อเพลิงหมดจด ก็จะได้เรื่องแรงม้าที่มากขึ้น โดยเฉพาะแรงบิดนั้นมหาศาลทีเดียว

โดยหลักการมันมีแค่นี้จริงๆ ครับ ดูๆ ไปก็เหมือนกับเครื่องเบนซินที่เป็นระบบหัวฉีดไฟฟ้ามาตั้งนานแล้ว แต่แรงดันของเครื่องดีเซลเหนือกว่า เพื่อสู้กับกำลังอัดที่สูงได้ ทำให้นอกจากจะได้การจุดระเบิดที่รุนแรงแล้ว ยังได้ความประหยัดอีกต่างหาก เพราะน้ำมันถูกฉีดมาในปริมาณที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา จากเซนเซอร์ต่างๆ มากมายจนมากกว่าเครื่องเบนซินซะอีก (ล่ะมั้ง) พอน้ำมันฉีดได้ละเอียด คลุกเคล้ากับอากาศได้ดี ก็ทำให้มีกำลังแรง มลพิษต่ำลง ที่สำคัญ “ลดกำลังอัดต่ำลงได้” เหลือประมาณ 18 : 1 ทำให้เสียงเครื่องและการสั่นสะเทือนลดลง รอบเครื่องช่วงปลายได้สูงขึ้น ยิ่งเจอฝาสูบแบบ ทวินแค็ม 16 วาล์ว แบบรถสปอร์ตด้วยแล้ว การประจุอากาศทำได้อย่างเหลือเฟือ แรงม้าจะไปไหนเสีย ยิ่งมาเจอแรงบิดอันมหาศาลตั้งแต่รอบต่ำด้วยแล้ว ยิ่งทำให้อัตราเร่งกระฉูดรูดเด้ง กดมาไม่ต้องรอกันนาน โดยที่เครื่องเบนซินจะเสียเปรียบในข้อนี้ ทำให้เครื่องคอมมอนเรล “แจ้งเกิด” ได้อย่างต่อเนื่องจนกระแสมาแรง…

หัวฉีดของคอมมอนเรล จะมีรูที่เล็กระดับหน่วยวัดเป็นไมครอน และมีความละเอียดและไวสูง สำหรับการจ่ายน้ำมันในเงื่อนไขที่ครอบคลุมทุกช่วงรอบการใช้งาน ปัจจุบันนี้ไม่แพงเวอร์อะไรมากแล้วเพราะมีใช้กันอย่างแพร่หลาย

แผนผังการทำงานของระบบคอมมอนเรล ดูภาพก็เข้าใจได้

Q & A น่ากลัวหรือไม่ จริงหรือแค่มโน
หลังจากที่ คอมมอนเรล ออกมาใหม่ๆ ก็มีหลายกระแสในทางลบ ว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งหลายคนก็ยังคาใจอยู่หลายประการ ยกตัวอย่างดังนี้…
1. ซ่อมแพง พอเปิดตัวปุ๊บ ก็มีกระแสต่อต้านทันทีว่า ระบบอะไรกันวะ ซับซ้อนยุ่งยาก ไฟฟ้าเยอะ โอ๊ยยยย ซ่อมแพง มีปัญหาเดี๋ยวนั่นเดี๋ยวนี้ ฯลฯ มาใหม่ๆ ก็กลัวกันเป็นธรรมดา ถ้าเอาไปเทียบกับระบบปั๊มสาย ซึ่งอันนั้นเขาแทบไม่มีอะไรที่เป็นไฟฟ้าเลย การซ่อมบำรุงจึงน้อยกว่า แต่ คอมมอนเรล ระบบมันซับซ้อนกว่า อุปกรณ์เยอะกว่า มันก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเป็นธรรมดา แต่ไม่ใช่ว่ามันจะพังบ่อยหากเราดูแลรักษาดีๆ ไม่ไปโมดิฟายอะไรพิสดารกับมัน เอาเป็นว่าระยะ 500,000 กม. วิ่งได้สบายๆ ไม่ต้องทำอะไรกับระบบคอมมอนเรลเลย และตอนนี้ก็มีอะไหล่แพร่หลายแล้ว ตัวปั๊มลูกนึงถ้าเป็นมือสอง ของ ISUZU ก็อยู่ราวๆ “ห้าพันกว่าบาท” ถ้าของ TOYOTA ก็จะ “เจ็ดพันกว่าบาท” เพราะตัวปั๊มมันถอดมา “โม” ได้ ถ้าของใหม่ก็ “สองหมื่นกว่าบาท” ไม่ได้แพงเวอร์เหมือนช่วงแรกๆ แล้ว ส่วนหัวฉีดตอนนี้ก็มีเยอะแยะเลย ของแท้ ของมือสองญี่ปุ่น ของใหม่ไทยแลนด์ จีน เยอะแยะไปหมด “อย่าคิดมาก” ครับ อยากใช้ก็ใช้เลย…
2. เติมน้ำมันบางชนิดแล้วพัง ในยุคแรกๆ ก็จะมีข่าวออกมาว่า หัวฉีดรูเล็กๆ ของคอมมอนเรลมันตันง่าย ตันแล้ววิ่งไม่ออก ระบบพัง จริงๆ ถ้าเราเติมน้ำมันตามปั๊มที่ “ดูดีหน่อย” มีการบำรุงรักษาบ่อเก็บน้ำมันดีๆ ไม่มีน้ำและตะกอนปน ใช้ไปเหอะครับ ไม่ทำอะไรหรอก แต่ถ้าเป็นปั๊มเก่าๆ แถมดูมอๆ อีก อันนี้เลี่ยงได้เลี่ยงเพราะเขาคงไม่ได้ดูแลบ่อเก็บน้ำมันอะไรมากนัก อาจจะมีน้ำและตะกอนปนมาทำให้หัวฉีดตันได้ แต่อย่ากังวลไป ถ้าไปวิ่งต่างจังหวัด น้ำมันจะหมด เคส “จำเป็น” ก็เติมแม่มไปเถอะครับ มันไม่พังในทันที แต่ไม่ใช่เติมประจำจะทำให้ระบบหัวฉีดสึกหรอหรืออุดตันเร็วกว่ากำหนด ถ้าจำเป็นก็เติมให้พอขับออกมาแล้วหาปั๊มดีๆ เติมไล่แล้วใช้ไป อีกอย่างที่คนมักลืม และ เป็นหัวใจของระบบ คือ กรองเชื้อเพลิง หรือ กรองโซล่า หรือ กรองดีเซล ควรจะเปลี่ยนตามระยะการใช้งาน ถ้ายิ่งใช้งานหนักควรยิ่งเปลี่ยนเร็วครับ ส่วนอีกเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคแรกๆ ก็จะเป็นน้ำมันทางเลือก ที่ยังผลิตได้ไม่สะอาดพอ มีตะกอนคงค้างเยอะ ซึ่งรถบางรุ่นเติมแล้ว “ออกอาการ” บางทีไม่พังครับ แต่การสึกหรอสูงกว่าปกติ เติมน้ำมันดีเซลทั่วไปนี่แหละครับ เน้นปั๊มที่ดูโอเคหน่อย เดี๋ยวนี้ต่างจังหวัดปั๊มดีๆ ใหม่ๆ เยอะแล้วครับ เลยไม่ต้องกังวลในจุดนี้…
จบกันไปกับปฐมบทของเครื่อง “ดีเซล คอมมอนเรล” ยุคใหม่ ที่มีการออกแบบไปไกลจากรูปแบบปั๊มกลไกดั้งเดิม เรียกว่าตอนนี้จะมาดูถูกไม่ได้แล้ว แถมสมรรถนะยังโดดเด่น ทั้งในด้านความแรงและความประหยัด จึงเป็นที่นิยมมากในวงการยานยนต์ระดับโลก แม้ว่าจะเป็นรถระดับ Limousine เรือธงของค่ายยักษ์ใหญ่ ก็ยังต้องใช้เครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล กันเลย ในโลกข้างหน้าเราคงจะได้ใช้กันแพร่หลายกว่านี้อีก อย่างน้อย อ่านเรื่องนี้ก็เป็นการศึกษาเพื่อที่จะรู้จักมันให้ดี และใช้งานรวมถึงดูแลได้เป็น ทำให้ใช้งานไปได้นานๆ โดยมีค่าซ่อมบำรุงต่ำครับ…

เรื่อง : Ny_PeePee
รูปประกอบจาก : www.google.com

Most Popular

To Top