Special Tips

พจนานุกรมศัพท์ซิ่ง สิงห์ควันดำ สายแซ๊ดเค้าคุยอะไรกัน อยากรู้ต้องอ่าน !!!

หลังจากที่เราทราบเรื่องข้อมูลเชิงเทคนิคของการแต่งรถกระบะไปมากพอสมควรแล้ว ครั้งนี้ขอแบบ “เบา เบา” แต่ยังเต็มไปด้วยสาระน่ารู้กันบ้าง เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศรับกับหน้าหนาวที่เข้ามาถึงกันแล้ว ณ ขณะที่ทำต้นฉบับอยู่นี้ อากาศกำลังสบาย ก็น่าจะแฮปปี้กันนะครับ ไม่ร้อน ไม่มีฝน ก็เลยอยากจะเขียนเรื่องสนุกๆ เบาๆ ให้เข้ากับบรรยากาศ ในครั้งนี้ ก็จะมารู้กันถึง ศัพท์ซิ่ง สิงห์ควันดำ ว่าที่เขาพูดๆ กันมันหมายถึงอะไร แล้วทำไมมันแรงหรือสวยจัง

ยก-ดัน 

เวลาจะโมดิฟาย ก็จะได้ยินคำนี้ “ยก” จะหมายถึงการใส่กล่อง “ยกหัวฉีด” ก็คือ ให้หัวฉีดยกหรือเปิดเป็นระยะเวลานานขึ้น เพื่อเพิ่มน้ำมันให้มากขึ้น ส่วนคำว่า “ดัน” ก็คือ ใส่กล่องดันราง สำหรับเพิ่มแรงดันในรางหัวฉีด เพื่อให้น้ำมันป้อนพอกับการกินของเครื่องยนต์ ตานี้ พอร้านขายกล่องเขาจัดแพ็คเกจคู่ คือ กล่องยก + กล่องดัน คู่กัน ในราคาสองหมื่นมีทอน ก็เลยพูดกันสั้นๆ ว่า “ยกดัน” นั่นเอง มันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นในการแต่งรถดีเซล ก่อนจะพัฒนาไปขั้นบรรลุ

ดันให้รางแตก (ก็แดกกรูไม่ได้)

คำนี้มักจะเป็นวลีในการ “เช็ง” หลังถนน อารมณ์ว่าปรับแรงดันมากๆ หวังแรงๆ จน “รางแตก” อันนี้เรื่องจริงครับ เพราะรางหัวฉีดมันต้องรับแรงดันจากปั๊มสูงเป็น “สามหมื่นกว่าปอนด์” หรือค่ามาตรฐานก็แถวๆ 2,200-2,300 บาร์ ประมาณนี้ก็ถือว่าเยอะแล้ว แล้วเรายังจะเพิ่มแรงดันเข้าไปอีกด้วยการคอนโทรลการกักแรงดันไหลกลับให้มันน้อยลง แรงดันน้ำมันในรางจึงเพิ่มขึ้นสูงมาก ถ้าสูงเกินไปจนรางทนไม่ไหวก็จะแตกไปตามระเบียบ เป็นที่มาของคำว่า ดันให้รางแตก ก็แดกกรูไม่ได้ นั่นเอง

บวม เบลอ

ก็อาจจะหมายถึง “คน” เวลาเงินหมดก่อนจะสิ้นเดือนเหมือนจะสิ้นใจ ถ้าเป็นคนก็คงจะแย่ แต่ถ้าเป็น “รถ” ก็แย่เหมือนกัน อาการสองอย่างนี้ จะเกิดขึ้นกับ “ตัวหัวฉีดดีเซล” ที่มีปัญหา ทำให้รถวิ่งไม่ออก สะดุด ควันดำ เป็นอาการที่ส่อเค้าว่ากูมีปัญหาแล้วนะ สำหรับอาการ “หัวฉีดบวม” ก็เกิดจากแรงดันที่มากเกินไป เบ่งจนเสื้อหัวฉีดบวม ไม่ก็รางแตก หรือมีอีกอย่างหนึ่ง เวลาขึ้นจูนไดโน เร่งรอบสูงพอถึงจุดรอบตัดแล้วถอนคันเร่งรอบตกทันที แรงดันที่วิ่งมามากๆ จู่ๆ หัวฉีดปิดทันที ทำให้เกิดแรงดันสะสมมากเกินไปชั่วขณะ ก็ทำให้หัวฉีดบวมได้ จะสังเกตได้ว่าเวลาขึ้นไดโน เร่งรอบสุดหยุดการทดสอบ ปลดเกียร์ว่าง แล้วก็เบิ้ลๆ รอบทิ้งกันซัก 3-5 ครั้ง เพื่อให้หัวฉีดเปิดอยู่ น้ำมันก็จะไหลได้ ทำให้ลดอาการหัวฉีดบวม

ส่วนอาการหัวฉีด “เบลอ” เพราะรักแถบ ก็จะเป็นเพราะการสั่งการของขั้วไฟหรือวงจรสั่งยกหัวฉีดเกิดปัญหา อาจจะด้วยอุณหภูมิ ความเก่า หรือการสั่งงานจากกล่องที่มีปัญหา ทำให้การสั่งจ่ายน้ำมันไม่เป็นไปตามกำหนด เครื่องยนต์ก็จะเกิดปัญหา สะดุด เสียงเร่งแล้วดังพรึบๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ตลอดทาง ก็ต้องถอดมาเช็คและขึ้นแท่นเทสต์หัวฉีดดูว่าเกิดจากอะไร และ แก้ปัญหาตรงไหน หรือถ้าเป็นมากๆ ก็ต้องเปลี่ยนใหม่

แซ๊ดดดดด

ไม่ได้หมายถึง Saddddd ที่แปลว่าเศร้า แต่หมายถึงเวลาซัดแล้ว “บูสต์มา” เสียงเทอร์โบดูดอากาศด้วยบูสต์ระดับ 40 ปอนด์ ขึ้นไป มันดัง แซ๊ดดดดดดดดด เร้าใจกันสุดๆ โดนใจสาวแว๊นติดซิ่ง โดยเฉพาะรถที่ “กั้นห้องเวสต์เกต” เสียงแซ๊ดดดด นี่จะดังเป็นพิเศษ เรียกว่าเวลาซัดก็ต้องมีเสียงให้ชาวบ้านหันมามอง แต่ถ้าแซ๊ดซี้ซั้วชาวบ้านก็จะหันมาด่า ตอนนี้เลยเป็นศัพท์ว่า “กระบะแซ๊ดดดดด” นั่นเอง

ท่อสูตรเม้งซัง

อันนี้จะโด่งดังมากเมื่อหลายปีก่อน ยุคแรกๆ ที่กระบะคอมมอนเรลเริ่มแต่งซิ่งกันแบบกระแสแรงๆ ก็จะเห็นสติกเกอร์ “ท่อสูตรเม้งซัง” ติดกันแทบทุกคัน แล้วมันดียังไง คือ เป็นท่อท่อนหน้าที่ร้าน เม้งซัง ราชบุรี ทำออกจากตูดเทอร์โบมาทิ้งใต้ท้องรถ ตัดแคตตาไลติก หรือ “แคต” ออก เสียงมันจะดังแบบดิบๆ ก้องๆ แคว่ดๆๆๆๆ ยังไงบอกไม่ถูก ซึ่งตอนนั้นท่อแบบนี้จะมีราคาประมาณ “สามพันกว่าบาท” ตอนหลังก็มีออกขายกันมาเพียบเลย แล้วก็มีสติกเกอร์ล้อเลียนตามมา เช่น ท่อเดิมเซ็งจัง ท่อเดิมไร้ตังค์ อะไรประมาณนี้ ก็ขำขำกันไป

ไทเท

ชื่อเหมือนวงฮิปฮอปแร็พโย่อันโด่งดังของไทย “ขัน เดย์ เวย์” ในนามวง “ไทยเทเนี่ยม” ก็ประมาณนั้น แต่ความจริงคือเป็นชื่อวัสดุในการทำ “ท่อไทเทเนียม” ที่กำลังนิยมมาก เพราะแพงและสวย สามารถเป่าร้อนเป็นสีรุ้งๆ บั้งๆ เหมือนกุ้งมังกร ตอนนี้ไม่ใช่ท่ออย่างเดียวแล้ว พวกหม้อถังหรืออะไรที่เป็น “โลหะ” ค้ำเคิ้มต่างๆ ขายงขายึด พวกนี้ก็ผลิตเป็นไทเทเนียมทั้งหมด เรียกว่าใครทำ ไทเท เยอะๆ เต็มคัน จะดูอลังการและไฮโซขึ้นมาทันใด ออกสื่อได้ไม่อายเขา

 

ปิเนียม

เป็นคำย่อมาจาก “อลูมิเนียม” จริงๆ แล้วจะมาจากสายแว๊นก่อน แรกๆ ก็ “มิเนียม” หลังๆ ก็เพี้ยนไปเป็น “ปิเนียม” เช่น อาร์มปิเนียม ก็คือ อาร์มสวิงหลังของมอไซค์ ส่วนถ้าเป็นรถซิ่ง ก็จะนิยมงาน ปิเนียม พวกท่อถังกะละมังปี๊บทั้งหลายในรถ เพราะมันสวยและเบากว่าเหล็ก เรียกว่าเป็นวัสดุที่ถูกนำมาแต่งรถแบบมาตรฐานไปซะแล้ว

 

ควันหางกระรอก

เป็นการเรียกลักษณะควันที่ออกท่อ เพราะดีเซลทำแรงๆ ก็จะมีควันเยอะตามปกติ เพียงแต่ว่ามันต้องเยอะแบบไหนถึงจะ “วิ่ง” มันต้องออกกำลังพอดีๆ เป็นควันออกสีแดงนิดๆ และเวลาเร่งมันจะ “ม้วนปลาย” ที่ศัพท์สายช่างดีเซลเรียกว่า “หางกระรอก” ลองไปดูเองแล้วกันว่าเป็นยังไง อันนี้เขาว่าวิ่งดีสุด ซึ่งความเข้าใจของคนส่วนมากจะคิดว่า ดีเซลควันยิ่งดำยิ่งเยอะยิ่งแรง จริงๆ ไม่ใช่ครับ ควันเยอะเกินไปก็คือเราถมน้ำมันจนหนามากๆๆ รถก็จะวิ่งไม่ออก เรียกกันว่า “จุก” นั่นเอง

รถบ้านยางบาง กับ ยางหนา

เป็นรุ่นการแข่งขันของรถกระบะตามรายการจัดแข่งทั่วๆ ไป คำว่า “รถบ้านยางบาง” หมายถึง รถสภาพบ้านๆ มีแอร์ มีเบาะ ที่สำคัญ คำว่า ยางบาง ก็จะหมายถึงพวกยางที่มีซีรีส์ต่ำ “แก้มบาง” แนวซิ่งเตี้ยๆ เพราะว่าตอนนี้รุ่นแข่งก็จะแบ่งแยก ยางหนา จำพวก NITTO 420 ที่มีแก้มหนา สามารถซับแรงเวลาออกตัวได้ดี อาการฟรีทิ้งน้อย คือ มันเป็นยาง SUV หรือ รถอเนกประสงค์ ที่มีแก้มสูง พอเวลาออกตัวแก้มมันซับแรงได้ดีกว่ายางแก้มบาง ก็เลยได้เวลาเร็วกว่า ตอนหลังเลยแยกยางบางกับยางหนาออกไปวิ่งกันคนละรุ่น

โบสามพัน

เป็นการโมดิฟายโดยนำเทอร์โบ IHI ของ ISUZU รุ่นเครื่อง 4JJ1-TCX มาใส่ เป็นเครื่อง 3,000 ซีซี. ก็เลยเรียกกันว่า “โบสามพัน” ซึ่งเป็นเทอร์โบยอดนิยมในการโมดิฟายสเต็ปแรก เป็นของหาง่าย มีทั้งของแท้เบิกศูนย์ตรีเพชร หรือ ของจีน ไต้หวัน ก็มีแบ่งไปหลายเกรดหลายราคา เทอร์โบรุ่นสามพันนี้เหมาะกับการใช้งาน ไม่รอรอบ เดี๋ยวนี้ก็สามารถโมดิฟายใบหน้าใบหลังให้บูสต์อยู่ราวๆ 40-45 ปอนด์ ได้อย่างสบาย

 

ปาก 44

จริงๆ แล้วเขาจะเรียกรวมกัน “โบสามพัน ปาก 44” ส่วนที่ว่า “ปาก 44” ก็จะหมายถึง “บังคับปากเทอร์โบ 44 มิล” ตามรุ่นการแข่งขัน ในด้านการโมดิฟาย ก็จะนิยมใช้ฝาหน้า ปาก 44 มิล แต่เปลี่ยน เสื้อกลาง หรือ “เอว” เป็นของเทอร์โบรุ่น T04ใบหลังใหญ่ ใบหน้า “หมกใน” ก็คือ เอาใบหน้าที่มีขนาดใหญ่มาใส่ในฝาหน้ารุ่นนี้ ตอนนี้ก็เป็นรุ่นแข่งที่ได้รับความนิยมสูง เพราะราคาไม่แพงมาก และ “เร็ว” ถ้าเป็นพวกยางนิ้ว ก็วิ่งเวลากัน 10วินาที เข้าไปแล้ว !!!

 

ปาก 50

ก็เป็นเทอร์โบรุ่น F55 ยอดนิยมนั่นเอง เราเคยกล่าวถึงมันไปแล้ว ก็เป็นซีรีส์ที่ใหญ่กว่า ปาก 44 ขึ้นมาอีกระดับ รุ่นนี้ก็ได้รับความนิยมทั้งรถถนนและรถแข่ง เพราะเป็นเทอร์โบขนาดกลางที่ขับง่าย มาสม่ำเสมอ แรงดี (อยู่ที่ว่าทำเครื่องขนาดไหนด้วยนะครับ) เรียกว่าเป็นหอยยอดนิยมเลยก็ว่าได้

 

โบใหญ่ เกียร์บ้าน กับ โบใหญ่ เกียร์ซิ่ง

จะได้ยินกันมากสำหรับคำนี้ แต่ก่อนจะมาจาก “โบใหญ่ เกียร์บ้าน” จะหมายถึงรถที่ใส่เทอร์โบลูกใหญ่แบบ Unlimited แรงเต็มตีนกันเลยทีเดียวเชียว ส่วน “เกียร์บ้าน” ก็จะหมายถึงเกียร์แบบ H-Patternที่ผลิตมาทั่วไปนั่นเอง ไส้ในโมดิฟายเปลี่ยนแปลงอัตราทดได้ แต่ไม่ใช่เกียร์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ ซึ่งไอ้รุ่น โบใหญ่ เกียร์บ้าน ตอนนั้นก็ยังพอจะมีรถสตรีทวิ่งอยู่ พอตอนหลัง เครื่องเริ่มทำแรงขึ้นมากๆ เกียร์เริ่มรับไม่ไหว ก็เลยต้องเอา “เกียร์ซิ่ง” หรือ เกียร์ที่ผลิตมาเพื่อการแข่งขัน Drag Racing มาใส่ ก็เลยเป็น “โบใหญ่ เกียร์ซิ่ง” ตอนนี้ก็ไปกันใหญ่ เป็นรุ่นการแข่งขันของกระบะในแบบ“แชสซีส์เดิม” แต่ตอนนี้ตัวถังหมอบกันเต็มที่ ใส่ยางใหญ่ไซส์เดียวกับรถเฟรม จริงๆ แล้วเครื่องมันก็สเต็ปเดียวกันแหละ เพียงแต่อยู่ในบอดี้กระบะมีแชสซีส์เดิม ตอนนี้ถ้าเป็นรายการแข่งใหญ่ปลายปี ก็จะให้ชื่อ โบใหญ่ เกียร์ซิ่ง ว่ารุ่น PRO TRUCK เป็นอันรู้กัน

 

ยีราฟซิ่ง

คำว่า ยีราฟ จะหมายถึง กระบะตัวสูง ที่นำมาแต่งซิ่ง ซึ่งบางคนก็ซื้อเพราะมันมีรุ่นเครื่อง 3,000 ซีซี. จากโรงงาน และมาแต่งแนว ยีราฟซิ่ง ก็จะดูแปลกตาดีเหมือนกัน ตัวรถสูงๆ ใส่ล้อแม็กซิ่งขอบใหญ่ๆ ถ้า 18 นิ้ว ก็จะใส่ยางหนาหน่อย เป็น ยีราฟตีนบวม ส่วนบางคนก็ชอบขอบ 20 แต่เป็นยางบางหน่อย ก็แล้วแต่ศรัทธา พวกนี้ยังเน้นใช้งานปกติอยู่ ลุยก็พอได้ หนีน้ำท่วมก็ไม่เลว จึงเป็นสไตล์การแต่งแบบ ยีราฟซิ่ง ซึ่งก็มีการแข่งขันรุ่นนี้เอาใจกลุ่มสายซิ่งหลังถนน แต่ควรซิ่งกันในสนามนะครับ นอกถนนไม่สนับสนุนแต่อย่างใด

 

ยีราฟแคระ 

ไหนๆ ก็มียีราฟซิ่งแล้ว ก็มี ยีราฟแคระ หรือ ยีราฟเตี้ย กันอีกหน่อยเป็นไง อย่างคนที่ขับตัวสูงแล้วรู้สึกมันโย่งๆ ไป ก็จัดการ “โหลดเตี้ย” มันลงมาซะ อ้าว แล้วทำไมแกไม่ซื้อตัวเตี้ยมาซะทีเดียวเลยล่ะ จะมาโหลดทำไมให้เสียตังค์ซ้ำซ้อน คืองี้ ไอ้ตัวสูงพวก Hi-Lander หรือ Pre Runner ตัวรถมันจะ “มีโป่ง” และ “ช่วงล้อสั้น” กว่าตัวเตี้ยที่เน้นบรรทุกเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ทรวดทรงมันเลยดูบึกบึนผ่าเผยกว่าตัวเตี้ยที่มักจะลีบๆ ยาวๆ ใส่ล้อใหญ่ก็เต็มซุ้มสวยดี คือ ทรงมันสวยครับ แต่ว่า การเอาตัวสูงมาโหลดนั้น ต้องระวังด้วยเนื่องจาก “ช่วงล่างจะผิดมุมไป” ต้องแก้ไขกันเยอะ คอม้าหน้าก็ต้องดัด ไม่งั้นมุมล้อจะผิด แคมเบอร์จะบวกทำให้ขับไม่ดี จะให้ดีต้องสร้างจุดยึดหรือมุมปีกนกใหม่ แชสซีส์หลังก็ต้องเว้าหลบเพลา ไม่งั้น “กระแทกยัน” ก็ต้องดูกันดีๆ ครับ เรื่องช่วงล่างควรจะเน้นกันมากพร้อมไปกับความสวยงาม

 

ได้รับสาระและบันเทิงกันชุดใหญ่นะครับ กับ “พจนานุกรมศัพท์ซิ่ง สิงห์ควันดำ” สำหรับชาวกระบะดีเซล ที่พูดๆ กัน สำหรับคนที่ยังไม่รู้ ก็จะได้รู้ว่า “เขาคุยอะไรกัน” และ “หมายถึงอะไร” จะได้เข้ากันถึงสไตล์การแต่งของวัยรุ่นกระบะซิ่ง ซึ่งก็มีหลากหลายสไตล์แล้วแต่เลือกตามชอบ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ แต่งซิ่งแต่งสวยได้ เป็นสิทธิของคุณ แต่ “ไปซิ่งกันในสนาม” จะดีที่สุด แรงจริงก็มีเงินรางวัลไป ได้ชื่อออกสื่อ เท่ห์กว่ามาซิ่งบนถนนให้ชาวบ้านเดือดร้อนครับ

 

ภาพจากเพจ  Drag Diesel Thailand

By:เค ไชยรัตน์ ไพศาลธนจิตร

 

 

 

 

 

Most Popular

To Top