Special Tips

กระบะยี่ห้อไหน แต่งซิ่งเร้าใจสุด ขาซิ่งต้องดู ขาหมูต้องอร่อย

สำหรับกระแส “กระบะซิ่ง” ก็ยังไม่ยอมจะเสื่อมคลายหายไปไหนสักที เนื่องจากว่า รถกระบะ หรือ รถอเนกประสงค์ ในสมัยนี้ ต่างก็พัฒนากันอย่างมากทั้งในด้านความสวยงาม ความสะดวกสบาย และที่สำคัญ “พัฒนาในด้านเครื่องยนต์” ไปไกล ด้วยระบบ “คอมมอนเรล” และฝาสูบแบบ DOHC “ทวินแค็ม 16 วาล์ว” เหมือนกับเครื่องเบนซินสมรรถนะสูง และระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ในภาพรวมที่ทันสมัย เรียกว่า “โมขึ้น” ทำแรงม้าได้มาก แรงบิดมหาศาล โดยใช้งบประมาณไม่สูงเกินไปนัก เรียกว่า “แรงง่ายๆ” แค่ “กล่องดัน กล่องยก” สองใบก็เห็นหน้าเห็นหลังแล้ว จึงทำให้กระแสกระบะซิ่งก็ยังคงแรงอยู่ แต่ว่า รถมันก็มีหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อ ก็จะมีจุดเด่น จุดด้อย แตกต่างกันออกไป แล้ว “ยี่ห้อไหนที่เราจะเลือก” งานนี้ชวนชิม เอ้ย ชวนชมสไตล์ “สะเด่าโห้โปรโมชั่น” จ้า…

หยุด !!! ก่อนดราม่า

ไอ้เรื่องยี่ห้อรถนี่ ผมก็ไม่ได้บอกชี้ชัดว่า ยี่ห้อนี้ดี ยี่ห้อนั้นไม่ดี สู้ยี่ห้อโน้นไม่ได้ คือ เอางี้ รถแต่ละยี่ห้อมันก็มีจุดดีและจุดด้อยต่างกันนะเว้ย เพียงแต่ว่า “เรารับมันได้แค่ไหน” บางคนก็อาจจะชอบยี่ห้อนี้ทรงสวย หน้าตาดี แต่เครื่องอาจจะโมดิฟายแบบสุดๆ แล้วแรงหรืออึดสู้อีกค่ายไม่ได้ ซึ่งถ้ารู้เช่นนี้แล้วยอมรับในลิมิทแรงม้าที่เครื่องเดิมๆ ของมันทำได้โดยไม่พัง “ได้แค่ไหนเอาแค่นั้นพอ” ซึ่งก็สามารถซื้อยี่ห้อนี้มาแต่งได้ แต่บางคนอาจจะเน้น ทำแรงได้เยอะๆ อะไหล่ของแต่งเยอะ ก็ต้องเลือกอีกยี่ห้อหนึ่ง ว่ากันไปตามความต้องการ คนเรามีทางเลือกเสมอครับ…

ISUZU

สำหรับ “อีสุ” ก็คงไม่ต้องพูดถึงกันมาก เพราะเป็นรถยอดฮิตอันดับ 1 ในสายกระบะซิ่งกันอยู่แล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จัก All New D-MAX หรือ “ออลนิว” หรือ “ออนิว” ตามภาษาซิ่ง เนื่องจากว่าเป็นเครื่องที่ทำแรงม้าอัพขึ้นง่ายที่สุด เทียบกับเจ้าอื่นในงบประมาณเท่ากัน อะไหล่ทั่วไปก็ถูก ของแต่งซิ่งก็เยอะ จึงได้รับความนิยมสูงสุด ณ บัดนาว เราจะพูดถึงตัว 2,500 กับ 3,000 กันก่อน ยังไม่พูดถึง 1.9 เพราะมันคนละเจนกัน

  • เครื่องตระกูล 4JK-4JJ วาล์วจะใหญ่กว่าชาวบ้าน ทำให้การ Flow ของอากาศเข้าออกได้ดี ซึ่งหัวใจของแรงม้าจะมากน้อยก็อยู่ที่ ประสิทธิภาพการประจุอากาศของฝาสูบนี่เองทำให้ได้เปรียบในการโมดิฟายเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นๆ ชัดเจนว่าตัวแรงระดับ Open เวลาเร็วสุดของเมืองไทย ก็ใช้เครื่อง ISUZU เป็นส่วนมาก
  • ระบบไฟ ระบบกล่อง เว้ากันซื่อๆ เลย คือ “หลอกง่าย” เป็นที่รู้กันว่า รถยี่ห้อไหนจูนยากๆ ก็มาจบกันที่ “เปลี่ยนชุดสายไฟกับกล่อง D-MAX” เรื่องเงียบ กล่องจูนก็มีเยอะ
  • ตัวเครื่องหาได้ง่าย อะไหล่ก็ไม่แพง อย่างถ้าเครื่อง 2,500 จะอัพเป็น 3,000 ก็เปลี่ยนข้อเหวี่ยงเบิกศูนย์ใหม่ หรือ จะเป็น “ข้อนอก” ที่เป็น “ข้อดำ” มือสองญี่ปุ่น แต่ก็ต้องเช็คดีๆ นะครับว่าสภาพดีหรือเน่ามา
  • เนื่องจาก ISUZU เป็นรถยอดนิยมในสายกระบะมาอย่างยาวนาน ตัวรถมีใช้อยู่เยอะ เพราะฉะนั้น ของแต่งของซิ่งมีหลายยี่ห้อจากหลายอู่ หลายสำนักให้เราได้เลือกใช้ เรียกว่าอู่ดีเซลไม่มีของ ISUZU ก็คงเป็นไปไม่ได้แล้วละ ความหลากหลายของของซิ่งจึงมีมากกว่ายี่ห้ออื่น ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกเยอะ
  • ข้อควรระวังมีอยู่สองอย่าง อย่างแรก ถ้าโมดิฟายเครื่องระดับแรงม้าตั้งแต่ 400 กว่าๆ ขึ้นไปจนถึง 500 ม้า โดยเฉพาะพวก F55 ขึ้นไป ก็ต้องระวังเรื่อง “ข้อเหวี่ยงร้าว” ระหว่างสูบ 1 และ 2ซึ่งมีโอกาสเจอได้ค่อนข้างบ่อย ก็ต้องเปลี่ยนข้อเหวี่ยงใหม่ จัดบาลานซ์ข้อใหม่ให้สมดุลย์ที่สุด อาการที่ออกเวลาข้อร้าว ก็คือ จะมีน้ำมันรั่วออกหน้าซีลข้อเหวี่ยง ทั้งๆ ที่ซีลก็ยังใหม่ ถ้าซัดไปซัดมาแล้วจู่ๆ เจออาการนี้ ต้องระวังและรื้อมาดูหน่อย เพราะถ้าข้อขาดแล้วมันจะพังกระจายทั้งเครื่องนะครับ
  • อีกอย่างก็คือ “ก้านสูบทรุดหรือคด” ไม่จำเป็นว่าจะต้องเครื่องแรง แต่เกิดจากการ “เปิดรอบเกิน” และ “ชอบลากจนรอบตัด” เมื่อรอบตัดปังๆๆๆ รอบเครื่องจะหมุนด้วยรอบไม่คงที่ กระตุกขึ้นๆ ลงๆ ถี่ๆ โอ้ว อู้ว ว้าววว ไม่ใช่แระ พอรอบหมุนด้วยอาการกระตุก ทำให้ชิ้นส่วนภายในรับภาระหนัก อันนี้ก็ควรจะต้องแก้ที่นิสัยของคนขับก่อน แล้วค่อยไปหาก้านซิ่งใส่

TOYOTA

ยี่ห้อยอดนิยมมหาชนอีกเหมือนกัน คู่แข่งกับ ISUZUไม่ว่าจะเป็นกระบะ อย่าง VIGO (ตัว REVO ยังไม่พูดถึง เพราะตอนนี้ความนิยมในการแต่งซิ่งยังไม่มากเท่าไร) ที่กระแสเป็นรอง D-MAX ก็จริง แต่FORTUNER ที่กลับนิยมกันมาก เพราะเป็นรถอเนกประสงค์ที่ใช้งานได้อย่างคุ้มค่า รวมไปถึง “ตู้ซิ่ง” อย่าง COMMUTER ที่นิยมโมดิฟายโดยการใช้เครื่องยนต์บล็อก 1KD-FTV 3,000 ซีซี. มาทำเพิ่ม หรือไม่ก็มีบางอู่ที่นิยมเครื่องตัวนี้ และลงแข่งในระดับ Open ทั้งหลาย สร้างผลงานได้ไม่แพ้ ISUZU เลยทำให้กระแสการโมดิฟาย TOYOTA ดีเซลยังคงมีอยู่สำหรับคนชอบอะไรที่แปลกไปอีกทางหนึ่ง

  • เครื่อง 1KD-FTV มีความทนทานดี สไตล์ TOYOTA ที่ท่อนล่างจะอึดทน แต่เอาจริงๆ แล้ว ถ้าทำกันอย่างถูกต้อง Clearance ดีๆ มันก็ทนเหมือนกัน ตัวเครื่องเพียวๆ ราคาอาจจะสูงหน่อย อยู่แถวๆ “แสน” ถ้าสภาพสดๆ นะ…
  • ฝาสูบบางอู่ที่ทำแรงๆ ก็จะเอาของ 2KD มาใช้ เพราะมีพื้นที่ในการขยายวาล์วเพิ่ม ตรงนี้สำคัญเพราะวาล์ว TOYOTA จะเล็กกว่า ISUZU ส่วนสรีระเครื่องยนต์อื่นๆ ไม่ต่างกันเท่าไร
  • ปั๊มคอมมอนเรลออกแบบไส้ในมาดี เช่น ตัวฟีดปั๊ม โรเตอร์ ลูกเต๋ากำหนดช่วงชัก จะใหญ่กว่าชาวบ้าน ทำให้วิดส่งน้ำมันได้เยอะ ก็เลยนิยมเอาไปใส่ยี่ห้ออื่นกัน ส่วนตัวรอบปั๊มจะแปลกๆ เพราะหมุนไม่ครบรอบในการปั๊ม 1 ไซเคิล จะให้ดีก็ต้องใส่ชุดโยงปั๊ม ทดเฟืองให้หมุนครบรอบ
  • ข้อควรระวัง แม้จะเป็นรถเดิมๆ หรือทำซิ่ง จะเจอปัญหา “เทอร์โบหอนบ่อย” เนื่องจากแรงดันน้ำมันเครื่องไม่พอ เพราะไลน์น้ำมันเครื่องที่มาเข้าเทอร์โบ ของเดิมจะเดินใต้ท่อร่วมไอเสียมา ทำให้น้ำมันร้อนและแรงดันตก ทางแก้ก็จะเดินไลน์น้ำมันใหม่ เอาจากออยคูลเลอร์มาใช้แทน ก็จะช่วยลดปัญหาเทอร์โบหอนได้เยอะ
  • กล่องเดิมจะค่อนข้างฉลาดเกินไปในการหลอกมัน อย่างถ้าแรงดันในรางเยอะขึ้น กล่องมันจะ Error แล้วฟ้องเกิด “เช็คเด้ง” หมายถึง ไฟเช็คเครื่องขึ้น หลายคนก็รำคาญยอมแปลงเอาชุดสายไฟกับกล่อง ISUZU ใส่ จะโมดิฟายได้ง่ายขึ้น ก็แล้วแต่ว่าจะเน้นซิ่งขนาดไหน แต่ถ้าไม่อะไรมาก กล่องเดิมก็วิ่งได้อยู่นะถ้าเราไม่ได้บ้าพลังมาก

 

MITSUBISHI

สามค่ายหลังที่จะฝอยถึงนี้ จะเป็นแนว “เฉพาะทาง” ตามความชอบ เริ่มจากค่าย “มิตซู” ที่เป็นตัว TRITON กับ PAJERO SPORT ขุมพลัง 4D56 ในตำนาน แต่พัฒนามาเป็นตัว DID จุดเด่นของตัวรถจะอยู่ที่ “ช่วงล่าง” จากโรงงานทำมาได้ดีเกินหน้าเกินตาพรรคพวก โดยเฉพาะ PAJERO SPORT นั้นจะได้รับการชื่นชมมากเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องเครื่องยนต์ ก็ว่ากันไปตามประสา อะไรเจ๊งมากูก็แก้ไป แค่นั้น…

  • จริงๆ แล้วตัวเครื่องก็ไม่ใช่จะเลวร้ายอะไรนัก แต่ที่เจอกันก็คือ “อาการน้ำดัน” เป็นกันมาก บางคันรถเดิมๆ ก็เป็นกันแล้ว เกิดจาก “ปะเก็นเดิมค่อนข้างบาง” เลยไม่ค่อยทน อีกอย่างที่เป็นจุดอ่อน คือ “ทางเดินน้ำมันวนไปวนมาเยอะเกิน” ทำให้การระบายความร้อนทำได้ช้า (ทางโรงงานอาจจะออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง แต่อาจจะไม่ถูกใจสายซิ่งก็แล้วแต่) ทางแก้ ก็คือ “เปลี่ยนปะเก็นใหม่ให้แข็งแรงขึ้น โดยทำขอบล็อกให้ดีเพื่อกันรั่ว” และ “แก้ทางน้ำ อุดตาน้ำในส่วนที่ไม่จำเป็น” เพื่อให้น้ำวนเร็วขึ้น อื่นๆ ก็ไม่มีอะไรมาก
  • ถ้ามีงบเยอะสักหน่อย อยากขับแบบดีๆ วิ่งดี ประหยัดน้ำมัน ตอบสนองไว ไฮเทคๆ หน่อย ก็ลงทุนซื้อตัวใหม่ที่เป็นเครื่อง MIVEC แล้วจะดีมากๆ ตัวนี้แก้ปัญหาจากรุ่นก่อนมาเยอะ ไลน์ท่อหัวฉีดอะไรพวกนี้ก็ทำให้ดูเป็นระเบียบมากขึ้น ซ่อมง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย

 

CHEVROLET

อันนี้จะพูดถึงตัว “นิวเชฟ” นะครับ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนกับตัวก่อน พวก ตาสองชั้น (มีเหล่าเต๊ง) หรือ ตาหวาน ที่ยังแชร์พื้นฐานเครื่องกับ ISUZUอยู่ สำหรับ นิวเชฟ จะเปลี่ยนไปเกือบหมด เรียกว่าไม่มีอะไรที่แชร์กับ ISUZU เลย แต่ก็ยังมีคนเล่นอยู่เยอะ ซึ่งดูจะเยอะกว่า มิตซู อีก เพราะไอ้ตัวล่าสุด “หน้าสวย” คนที่ใช้ นิวเชฟ รุ่นที่ออกมาแรกๆ หน้าตามู่ทู่ๆ หน่อย พอเห็นหน้าไมเนอร์เชนจ์ตัวใหม่สวย ก็นิยม “เฟสออฟ” หรือ “แปลงหน้า” ก็ใช้งบประมาณแถวๆ “สี่หมื่นกว่า” (ตอนนี้อาจจะถูกลงนะ) ก็หล่อได้แล้ว ลองมาดูว่าถ้าจะเล่น นิวเชฟ จะมีอะไรน่ารู้…

  • ตัวเครื่องDURAMAXจะโมดิฟายได้แค่ระดับหนึ่ง ต้องระวังเรื่อง “วาล์วลอย” แค่กล่องยกกับกล่องดัน เปิดรอบเพิ่ม ก็เสี่ยงกับปัญหานี้แล้ว และ “แรงดันปั๊มชอบตก” ต้องอาศัย “เปลี่ยนสายพานให้ยาวขึ้น เพื่อทดรอบปั๊มให้หมุนเพิ่มขึ้น” จะมี “ชุดลูกรอกเล็ก” รอบจัดทดปั๊มสำเร็จรูปขายเลย ก็ยังดีว่าไม่ต้องใช้ชุดโยงเหมือน VIGO สามารถทำในตำแหน่งเดิมได้เลย
  • พวกไส้ใน ก็ต้องทำใหม่หมดถ้าจะเน้นแรงม้าเยอะ โดยมากก็จะใช้ข้อเหวี่ยงเดิม แต่เปลี่ยนลูกสูบ ก้านสูบซิ่ง หรือถ้าจะเต็มๆ ก็ต้องแปลงข้อเหวี่ยง 4JJ ของ ISUZU ใส่ ซึ่งก็แปลงเยอะเหมือนกัน บางคนก็อาจจะยกเครื่อง 4JJ ลงทั้งตัวพร้อมเกียร์เลยจะจบง่ายกว่า โดยการยอมข้ามพันธุ์ แต่สำหรับคนที่อยากจะใช้เครื่องเดิม หรือ ลงแข่งรุ่น นิวเชฟ ที่บังคับเครื่องเดิม ก็ต้องโมดิฟายอย่างที่ว่า แล้วก็เอาชุดสายไฟและกล่องของ ISUZU มาใส่ ซึ่งก็ต้องเปลี่ยน “เรือนไมล์” เป็นของ ISUZU ด้วย เพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานได้ครบระบบ

 

NISSAN

ตบตูดกันกับค่ายนี้ ก็คงจะมีกระบะ NAVARA กันอย่างเดียว จริงๆ แล้วตอนออกมาใหม่ๆ ถือว่าเป็นรถกระบะที่สมรรถนะดี มี 6 เกียร์ แต่กำเนิดก่อนพรรคพวกมาเกือบสิบปีได้ เครื่องยนต์ YD25DDTiรอบจัด แต่รอบต้นแรงจะน้อยหน่อย ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ในยุคก่อนที่กระบะซิ่งจะดัง ก็มีการนำเครื่องตัวนี้ไปใส่ใน MITSUBISHI EVO 3 ของ ECU SHOP ทำขับสี่ วิ่งแข่งในรายการ Souped UpThailand Records เมื่อหลายปีก่อน แต่ ณ ตอนนี้ ดูเหมือนจะโดนกระแส ISUZU กลืนไปซะแล้ว อาจจะด้วยรูปทรงที่ออกแนว “ถึกบึกบึน” ไม่อ่อนช้อยสวยงาม คนเล่นจึงต้องชอบจริงๆ ซึ่งเป็นแนวเฉพาะทาง สำหรับจุดดีและจุดอ่อนของ NAVARA ก็มีประมาณนี้ครับ…

  • ด้วยความที่เป็นเครื่องแบบ “มีรอบเยอะ” ก็ดูขนาดเครื่องเดิมก็หมุนได้ถึง 5,000 กว่ารอบ ซึ่งมากกว่าพรรคพวก สไตล์เครื่อง NISSAN ที่เน้นวิ่งรอบสูง ถ้าเทียบกับเครื่องเบนซินก็ RB26DETT ในตำนานนั่นไง ปัญหาหลักที่เจอกันเวลาซัดรอบสูง คือ “เมนถอน” หมายความว่า “น๊อตยึดเมนแบริ่งถอนและคลายออกบ่อยมาก” ทำให้เกิดอาการข้อเหวี่ยงหลวม ถ้าเหนี่ยวๆ แล้วได้ยินเสียงก๊อกๆๆ ดังกราวมาล่ะก็ใช่เลย ต้องเปลี่ยนน๊อตเมนใหม่ให้แข็งแรงและตัวโตขึ้น บางสูตรก็เอาน๊อต ARP ของ SR20DET ใส่ ก็จะช่วยลดการคลายและยืดในอาการนี้ได้
  • ยังดีว่ามี “6 เกียร์” มาช่วย ซึ่งได้เปรียบพรรคพวกที่โดยมากจะเป็น 5 เกียร์
  • ตัวรถมีน้ำหนักมาก เกิดจากความแข็งแรงที่ NISSAN เน้นหนัก จากการสอบถามช่างที่ทำรถรุ่นนี้บ่อยๆ แค่โครงกันชนก็ทำมาใหญ่และหนากว่าค่ายอื่นแล้ว แชสซีส์ก็หนากว่า ทำให้น้ำหนักตัวรถเยอะ เสียเปรียบในการเร่ง แต่ถ้าคนชอบฟิลลิ่งหนักๆ ก็จะถูกใจ
  • ช่วงล่างเดิมจะออกแข็ง นั่งแล้วปึ้กปั้ก ออกแน่นๆ บางคนไม่ชินก็บ่นว่าออกทางกระด้าง แต่ไปดีที่ความเร็วสูง การเข้าโค้ง ที่จะแน่นและไม่โคลงเหมือนช่วงล่างนิ่มย้วยๆ อันนีถ้าคนชอบขับซิ่งจะถูกใจ

สรุปก่อนจาก

จริงๆ แล้วยังเหลือ FORD กับ MAZDA อีกสองยี่ห้อ แต่ขอไว้ก่อนเพราะเนื้อที่จะหมดแล้ว เนื่องจากเป็นรถที่เฉพาะกลุ่มจริงๆ คนที่ซื้อมักจะแนว “ผู้ใหญ่” ไม่เน้นแรงเวอร์ แต่เน้นตอบสนองดีขึ้น เช่น จูนกล่อง ท่อใบ เพิ่มบูสต์นิดหน่อย แค่นี้พอ เราก็เลยพูดถึงยี่ห้อที่ “วัยซิ่งนิยมกัน” เป็นหลัก เอาล่ะครับ ข้อมูลเหล่านี้เราจะให้เป็นแนวทางสำหรับคนที่กำลังจะซื้อกระบะมาแต่ง หรือ คนที่มีแล้วกำลังจะแต่ง จะได้รู้นิสัยของรถตัวเองว่าจะทำอะไรได้บ้าง มีข้อดีตรงไหน รวมถึง มีข้อควรระวังตรงไหน แล้วจะปรับปรุงอย่างไร เป็นข้อมูลให้แฟนๆ “ตัดสินใจ” ก่อนจะซื้อรถมาเล่นจะได้ไม่มานั่งดราม่าขัดใจกันทีหลังนะครับ สวัสดีครับ

 

By:เค ไชยรัตน์ ไพศาลธนจิตร

 

Most Popular

To Top