รถที่สามารถขออนุญาตเพื่อนำมาใช้ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว
- 1. รถยนต์นั่งซึ่งมีจำนวนที่นั่งรวมที่นั่งผู้ขับรถไม่เกิน 9 ที่นั่ง ทั้งนี้ ไม่รวมรถบ้าน
- 2. รถยนต์บรรทุก ที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม
- 3. รถจักรยานยนต์
“รถบ้าน” หมายความว่า รถยนต์ที่สร้างขึ้นหรือดัดแปลงเพื่อให้มีพื้นที่ในการพักอาศัยและมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับการพักอาศัยและการเดินทาง เช่น โต๊ะ ที่นั่ง ที่สำหรับนอน ที่ทำอาหาร ที่เก็บของ ห้องสุขา เป็นต้น ทั้งนี้ ในบางกรณีอาจเรียกว่า “มอเตอร์โฮม”
การขออนุญาตนำรถจดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศไทย
ผู้ที่มีความประสงค์ต้องการนำรถจดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวจะต้องดำเนินการผ่านผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวตาม พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551
- 1. จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศหรือประเภททั่วไปเท่านั้น
- 2. ดำเนินการยื่นคำขออนุญาตพร้อมเอกสารครบถ้วน ไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ ก่อนวันแรกที่นำรถเข้ามาใช้ในประเทศไทย
- 3. ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องลงทะเบียนในระบบ Foreign Vehicle Permit System หรือ ระบบ FVP
-
4URL: https://fvp.dlt.go.th/ เพื่อดำเนินการยื่นคำขออนุญาตใช้รถผ่านระบบดังกล่าว
- 5. เมื่อคำขออนุญาตใช้รถได้รับการอนุมัติแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวสามารถติดต่อขอชำระค่าธรรมเนียมและขอรับเครื่องหมายแสดงการใช้รถได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัด ตามที่ได้แจ้งเอาไว้ในระบบ โดยสามารถเลือกดำเนินการ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดใดก็ได้
เงื่อนไขในการกำกับดูแลรถต่างประเทศ
ในกรณีที่ต้องการใช้รถเกินกว่าเขตจังหวัดชายแดนที่เดินทางเข้ามา ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องจัดให้มีผู้นำทาง โดยจะเป็นมัคคุเทศก์หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายก็ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกและประสานงานให้ผู้ใช้รถเดินทางด้วยความปลอดภัย มีหลักเกณฑ์ขั้นต่ำดังนี้
- 1. รถไม่เกิน 5 คัน: ผู้นำทางอย่างน้อย 1 คน พร้อมรถยนต์นำทางอย่างน้อย 1 คัน
- 2. รถ 6-15 คัน: ผู้นำทางอย่างน้อย 2 คน พร้อมรถยนต์นำทางอย่างน้อย 2 คัน
- 3. รถ 16 คันขึ้นไป: ผู้นำทางอย่างน้อย 3 คน พร้อมรถยนต์นำทางอย่างน้อย 3 คัน
ผู้นำทางจะต้องเป็นคนสัญชาติไทยและรถยนต์ที่ใช้นำทางจะต้องเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยอย่างน้อย 1 คัน กล่าวคือ ในกรณีที่มีรถยนต์นำทางมากกว่า 1 คัน คันที่เหลืออาจเป็นรถที่จดทะเบียนต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตและอยู่ในกลุ่มที่เดินทางคณะเดียวกัน ซึ่งมีผู้นำทางร่วมนั่งไปด้วยก็ได้
เอกสารประกอบสำหรับการยื่นขออนุญาต
ในการขออนุญาตแต่ละครั้ง ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้
- 1.
บัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งรับรองจากนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทไว้ไม่เกิน 6 เดือน(ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวมิได้ดำเนินการด้วยตนเอง ต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการ พร้อมแนบภาพถ่ายบัตรประจำบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ)
- 2.
ภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวตาม พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 พร้อมแนบเอกสารเกี่ยวกับผู้ขออนุญาตใช้รถและรถดังต่อไปนี้
พร้อมแนบเอกสารเกี่ยวกับผู้ขออนุญาตใช้รถและรถดังต่อไปนี้
- 1. ภาพถ่ายหนังสือเดินทางของผู้ขออนุญาตใช้รถ ที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- 2. ภาพถ่ายใบอนุญาตขับรถที่สามารถใช้ได้ในประเทศไทย ที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 60 วัน
- 3. ภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถ
- 4. หนังสือยินยอมจากเจ้าของรถ กรณีผู้ขออนุญาตใช้รถมิได้เป็นเจ้าของรถ
- 5. ภาพถ่ายหนังสือรับรองการผ่านการตรวจสภาพรถ
- 6. ภาพถ่ายตัวรถที่สามารถมองเห็นลักษณะรถ สีรถ และหมายเลขทะเบียนรถ อย่างน้อย 1 รูป
- 7. ภาพถ่ายหลักฐานการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
- 8. ภาพถ่ายหลักฐานการเอาประกันภัยประเภท 3 ซึ่งมีความคุ้มครองดังนี้
- ความคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลภายนอกไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาทต่อหนึ่งคนในแต่ละครั้ง
- ความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท ในแต่ละครั้ง
- 9. หลักฐานแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทาง เช่น สถานที่พักและกำหนดการต่างๆ
หากเอกสารใดไม่มีภาษาอังกฤษกำกับ จะต้องมีฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ซึ่งรับรองการแปลจากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศนั้น ได้แก่ หน่วยงานที่เป็นผู้ออกเอกสาร สถานทูต หรือสถานกงสุล เป็นต้น
อายุของเครื่องหมายแสดงการใช้รถ
ใบอนุญาตขับรถที่สามารถใช้ได้ในประเทศไทย
ใบอนุญาตขับรถที่สามารถใช้เพื่อการขับขี่ในประเทศไทยมีดังนี้
- 1. ใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน (ไม่รวมใบอนุญาตขับรถชั่วคราว)
- 2. ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ (International Driving Permit) ที่ออกภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1949
หากผู้ที่ประสงค์จะขับขี่เพื่อการท่องเที่ยวเที่ยวในประเทศไทยไม่มีใบอนุญาตขับรถประเภทข้างต้น จะต้องติดต่อขอรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (ชนิดอายุ 30 วัน) ภายในวันแรกที่นำรถเข้ามาใช้ในประเทศไทย ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดภายในจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของด่านศุลกากรขาเข้า โดยผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวมีหน้าที่ดูแลและอำนวยความสะดวกในการจัดเตรียมเอกสารและนัดหมายสำนักงานขนส่งจังหวัดเป็นการล่วงหน้า
การขอรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (ชนิดอายุ 30 วัน) กรณีไม่มีใบอนุญาตขับรถที่ใช้ได้ในประเทศไทย
เอกสารสำหรับการขอรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวมีดังนี้
- 1. หนังสือเดินทางที่มีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- 2. หลักฐานแสดงที่พักอาศัยในราชอาณาจักร รับรองโดยผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว
- 3. ใบรับรองแพทย์แสดงว่าผู้ขับรถไม่มีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถและไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน มีอายุใช้ได้ตามที่แพทย์ผู้รับรองกำหนด ออกก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 1 เดือน
- 4. ใบอนุญาตขับรถประเภทเดียวกันกับที่ขอรับซึ่งรัฐบาลของประเทศอื่นออกให้และยังไม่สิ้นอายุ พร้อมฉบับแปลภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษโดยหน่วยงานที่มีอำนาจ
ขั้นตอนในการขอรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวมีดังนี้
- 1. เข้ารับการทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย
- 2. เข้ารับการอบรมจำนวน 1 ชั่วโมง
- 3. ชำระค่าธรรมเนียมและรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว 205 บาท
แอพลิเคชัน DLT FVP
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- 1. ส่วนกลางติดต่อได้ที่กรมการขนส่งทางบก
- กลุ่มกิจการขนส่งระหว่างประเทศ กองแผนงาน (อาคาร 4 ชั้น 5)
- กลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 (อาคาร 2 ชั้น 3)
- 2. ส่วนภูมิภาคติดต่อได้ที่ สำนักงานขนส่งจังหวัดทุกจังหวัด
ขอบคุณข่าวสารจาก กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News
