สวัสดีครับ ก่อนอื่นก็ต้องขออนุญาตเปลี่ยนนามปากกามาใช้อันนี้นะครับ แต่ผู้เขียนก็ยังคงเป็นคนเดิม และมุ่งเน้นในการหาสาระมาให้ท่านผู้ชมได้อ่านและทำความเข้าใจกัน ครั้งที่แล้วเราว่ากันถึงเรื่อง “น้ำมันเครื่อง” ตั้งแต่การทำความรู้จัก “สารตั้งต้น” ไปจนถึง “เบอร์” หรือ “เกรด” ที่หลายคนก็ยังเข้าใจผิด ซึ่งก็จะทำความเข้าใจกันใหม่ ส่วนในครั้งนี้ จะมาพูดถึง “ภาคต่อ” ที่น่ารู้อีกเช่นเคย ซึ่งเอาข้อชวนสงสัยมาจากพฤติกรรมของผู้ใช้รถทั่วไป และนำมาวิเคราะห์กันว่าอันไหนมันน่าจะ “ดีกว่า” และ “ควรทำ” (อ่านแล้วดู Soft กว่าคำว่าผิดหรือถูก) ซึ่งบางสิ่งก็ดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่อาจจะมีอะไรตามมาแบบคาดไม่ถึงเหมือนกันนะครับ…
น้ำมันเครื่อง สำหรับเครื่องดีเซล และ เครื่องเบนซิน ต่างกันอย่างไร
ถามง่าย ตอบง่ายว่า “ต่างกันแน่นอนครับ” เพราะโครงสร้างและลักษณะภายในของเครื่องเบนซิน และ เครื่องดีเซล ดูเผินๆ อาจจะคล้ายกัน แต่ความจริงแล้ว คุณลักษณะต่างกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการจุดระเบิดที่แตกต่างกัน เขม่าภายใน ลักษณะการทำงานของเครื่องที่รอบไม่เท่ากัน และการนำไปใช้งานที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ฟันธงฟันทิ้งว่า “ไม่เหมือนกันแน่นอน” จริงๆ มันก็แบ่งประเภทชัดเจนอยู่แล้วครับ แต่ที่นำมาฝอยให้ฟังเพราะดันมีสาย “อุตริ” ชอบ “ผสมข้ามสายพันธุ์” เติมน้ำมันเครื่องสลับชนิดกัน ด้วยความเชื่อ หรือ “ฟังเขาว่ามา” ไอ้เรื่องนี้อาจจะมีทั้ง “ใช่” และ “ไม่ใช่” แต่ก่อนอื่นที่จะไปขั้นฟันธง ขอให้ผ่านขั้นตอน “ค. (คิด) ว. (วิเคราะห์) ย. (แยกแยะ)” ทำความเข้าใจก่อนว่า น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ทั้งสองประเภทนี้ มีข้อแตกต่างกันอย่างไร…
มองให้ขาด ปร๊าดเดียวรู้เรื่อง !!!
เบนซิน/ดีเซล เลือกยังไง
จริงๆ แล้วสารพื้นฐาน หรือ Base Oil ของน้ำมันเครื่องแต่ละชนิดนั้นที่มาเหมือนกัน อย่างเช่น ถ้าเป็นน้ำมันสังเคราะห์ก็จะผลิตวิธีประมาณนี้ มาทรงเดียวกัน แล้วค่อยไปใส่สารเสริมเติมแต่งพวก Additiveต่างๆ เพื่อให้คุณสมบัติของน้ำมันเครื่องนั้นแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ว่าจะเอาไปใช้ยังไง สำหรับการดูน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องเบนซิน ไม่ได้ยากเลยครับ เพราะใน “ฉลาก” ก็จะกำหนดไว้แล้วชัดเจนว่า “สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน/แก๊สโซลีน” หรือ “For GasolineEngine” (อ่านดีๆ อย่าเอาไปมั่วดริ๊งค์กับ แก๊สโซฮอล์ นะครับ)
แล้วก็จะมี “รหัสลับ” ที่ “ไม่ลับ” อีก ดูง่ายๆ จากสัญญลักษณ์ API DONUT เป็นAPI ServiceCategoryยกตัวอย่างเช่น API Service SN(ซึ่งปัจจุบันก็ไปถึง SN กันแล้ว ส่วน SM ก็ยังพอใช้ได้ แต่เป็นมาตรฐานเก่า) อันนี้เอาเรื่องเก่ามาย้อนหน่อย ตัว S ก็จะย่อมาจากคำว่า Spark Ignition หรือ “เครื่องยนต์ที่จุดระเบิดด้วยประกายไฟจากหัวเทียน” ก็หมายถึงเครื่องยนต์ “เบนซิน” นั่นเอง…
ส่วนต่อมา คือ น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล อันนี้จะกำหนดภาษาไทยตรงๆ หรือภาษาฝรั่งว่า “For Diesel Engine” ชัดๆ นะครับ ไม่ต้องคิดมาก ส่วน “รหัสลับ” ก็จะแตกต่างกันนิดหน่อย เป็น API ServiceCI-4 ซึ่งตัว C นำหน้านั้นจะหมายถึง “Compress Ignition” คือ “เครื่องยนต์ที่จุดระเบิดด้วยกำลังอัด” ไม่มีหัวเทียน นี่ก็คือ เครื่องยนต์ “ดีเซล” นั่นเองครับ ก็เรียกว่าน่าจะให้ความ “กระจ่าง” กันพอควรแล้วนะครับผมแถมให้อีกนิด สำหรับเกรดระดับชั้นของน้ำมันเครื่องสำหรับดีเซล ณ ตอนนี้ ใหม่สุด คือ CI-4ที่ออกมาในปี 2002 ส่วน CH-4 จะถอยหลังไปอีกนิด ออกมาในปี 1998 แต่ก็ยังสามารถใช้ได้ครับ…
“กระจ่างไหมครับ ว่าอันไหนน้ำมันเครื่องสำหรับเบนซินและสำหรับดีเซล ซึ่งมันจะแยกกันอย่างชัดเจนเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่า ในความเชื่อที่ชอบเติมผสมกันล่ะ มันจะพังไหม” !!!???
อุตริชน ซนแล้วได้เรื่อง (หรือเปล่า)
มันก็มีข้อถกเถียงและทำกันมานานแล้วครับ บางคนก็ชอบเอาน้ำมันเครื่องดีเซลไปใส่เครื่องเบนซินบ้างละ หรือน้ำมันเครื่องบางตัวก็ทำตัวเป็น “ไฮบริด” หรือ “เสือไบ” ได้ทั้งสองอย่างบ้างมันก็มีครับ แต่ถ้ามีการ “แบ่งประเภท” แล้ว เราควรทำความเข้าใจกับมันหน่อยว่ามันเป็นยังไง โดยหลักๆ แล้ว สารบางอย่างที่แตกต่างกันแน่ๆ ก็คือ “สารชะล้างเขม่า” (Detergent) ในตัวน้ำมันเครื่องดีเซล จะมีมากกว่าเบนซิน เพราะเครื่องดีเซลมีเขม่ามาก จึงต้องจัดเต็มสารชะล้างกันหน่อย เพื่อความสะอาดภายในเครื่อง ก็อาจจะด้วยเหตุนี้เอง จึงมีคนที่ชอบจะเอาน้ำมันเครื่องดีเซลไปใส่กับเครื่องเบนซิน เพราะหวังผลในด้าน “ความสะอาด” เพิ่มขึ้นนั่นเอง แล้วอย่างอื่นจะคำนึงถึงไหม ???
ถ้าเอาน้ำมันเครื่องเบนซิน ไปเติมเครื่องดีเซล อาจจะมีปัญหาเรื่องการชะล้างเขม่าที่ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เขม่าเยอะก็มีปัญหาตามมา วิ่งไม่ออก ควันดำ เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ (เครื่องดีเซลมันจะมีปัญหาประมาณนี้ซะส่วนใหญ่) ส่วนเอาของเครื่องดีเซล มาเติมเบนซิน ก็ต้องคิดต่อว่า ในรอบสูงมันจะสามารถคงทนความร้อนได้ไหม เพราะเครื่องเบนซินใช้รอบสูงกว่าเครื่องดีเซลเยอะ กรณีถ้าคุณ Teen หนักสักหน่อย ชอบเห็นเข็มวัดรอบโฉบไปใกล้ “เรดไลน์” บ่อยๆ ก็ไม่สมควร แต่บางคนที่เน้นขับปกติ ไม่บ้าพลัง เข็มวัดรอบป้วนเปี้ยนอยู่โซนน้อยๆ เป็นหลัก ก็ “อาจจะใช้ได้” แต่ถ้าเครื่องเริ่มมีอายุหน่อย อาจจะมีปัญหาเรื่อง “ชะล้างดีเกินไป” บางทีพวกเขม่ามันก็อาจจะไปอุดรอยรั่วจาก Clearance ที่เพิ่มขึ้น พอชะล้างดีเขม่าหายเยอะ กลายเป็น “ควันขาวออก” ก็มี อันนี้ก็แล้วแต่เคสของใครของมันนะ สรุปว่า “ไม่ควรเติมสลับกัน” เพราะของมันบ่งชี้ให้ใช้เจาะจงอยู่แล้ว เออ ถ้าเคสจำเป็นต้องหาเติม เช่น ขับๆ ไป น้ำมันเครื่องรั่วซึมอยู่กลางทางจนอยู่ในระดับต่ำเกินไป หาน้ำมันเครื่องตรงประเภทไม่ได้ จำเป็นต้องเติมสลับกันยังงั้นล่ะได้ แต่ถ้าเลือกได้มีให้ซื้อของใครของมันจะไปสลับกันทำไมให้วุ่นวาย ข้อยละงง ??? สรุปก็ใครอยากจะคันเติมสลับกันแล้วแต่นะคร๊าบบบบ นี่แนะนำเฉยๆ อย่ามาดราม่านะคร๊าบบบ รถใครรถมันรับผิดชอบกันเองนะคร๊าบบบ…
โปรดระวัง !!! น้ำมัน (เหมือน) ของแท้ !!!???
ไอ้เรื่องนี้คงเคยได้ยินกันมานานแล้วล่ะ เรื่อง “น้ำมันเครื่องปลอม” ที่ใส่ไปแล้วเครื่องพัง หรือ เสียหาย มีปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย ซึ่งเป็นความชั่วช้าเลวทรามของคนที่เอาเปรียบชาวบ้าน พวกน้ำมันปลอมที่เอามาขายนั้น จริงๆ แล้ว มันมาจากการเอาน้ำมันหล่อลื่นเก่าที่ใช้แล้ว ก็พวกน้ำมันที่อู่ถ่ายทิ้งเก็บไว้ในถัง 200 ลิตร เรียกว่าคุ้มค่ามากเพราะมันจะมีน้ำมันทุกชนิดปนอยู่ในนั้น อะไรมั่งละ นอกจากน้ำมันเครื่อง ยังมีน้ำมันเบรก น้ำมันเพาเวอร์ สารพัดชนิดปนอยู่ด้วยกัน แล้วก็จะมีพวกมาตระเวนซื้อต่อไป ถ้า “สายโกง” มาเข้ากรรมวิธีการกรอง ใส่สารฟอกให้ใสใกล้เคียงของใหม่ ถ้าคนดูไม่เซียนจริงๆ ก็โคตรยาก ขนาดเซียนยังยากเลยครับ สมัยก่อนยังพอจะดูออกได้ง่ายหน่อยครับ แต่ตอนนี้ยอมรับว่า “เทคโนโลยีการปลอมแม่งสุดมากกก” เหมือนยันซีลฟอยล์ใต้ฝา ฉลาก หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ก็ทำเหมือนเกือบ 100 % แทบจะดูไม่ออกจริงๆ ร้านอะไหล่ใหญ่ๆ บางร้าน ยังเป็น “เนื้อเปื่อย” โดนซะเองโดยไม่ไม่รู้เรื่อง ใครดวงซวยหน่อยเอาใส่ไปสักพักก็เครื่องยนต์ก็จะมีอาการแปลกๆ โผล่มา เอาเป็นว่า เดี๋ยวเรามารู้กันว่า จะดูน้ำมันเครื่องปลอมได้อย่างไร…
สิ่งแรกก็ต้อง “พิจารณาถึงแหล่งซื้อ” ร้านที่ขายก็ขอให้ดู “มีหลักมีฐาน” ดูน่าเชื่อถือว่าจะไม่ “ซิ่ว” ง่ายๆ ไอ้เรื่องน่าเชื่อถือนี่บอกกันไม่ได้ว่ะว่าต้องดูยังไง ต้องลองใช้ Sense ส่วนตัวก็แล้วกัน ร้านพวกนี้จะไม่กล้าสุ่มเสี่ยงซื้อน้ำมันจากแหล่งที่ไม่ชัวร์ เพราะเสี่ยงกับการโดนหลอกแล้วลูกค้าเครื่องพังมาด่าทีหลัง ถ้าถามว่าร้านใหญ่เคยเจอน้ำมันปลอมมั้ย “เคยครับ” อาจจะโดนหลอกกันมาเป็นทอดๆ อีกอย่าง เดี๋ยวนี้น้ำมันเครื่องส่วนใหญ่ก็จะมีขายใน “ออนไลน์” ในเว็บ ในเฟสบุ๊ค กันให้รึ่มไปหมด อันนี้คงไม่มีใครรับประกันได้ ก็คงจะต้องอาศัยการ “บอกต่อ” จากคนที่ซื้อประจำแล้วไว้ใจ หรือไม่ก็มีหลักแหล่งแน่นอนจริงๆ แต่ยังไงแน่ๆ ก็ซื้อในแหล่งที่เรารู้สึกมั่นใจจะดีกว่าครับ…
สำหรับการดูที่ตัวสินค้า อย่างที่บอกตอนนี้โจรวิทยาแม่มสุดยอด แต่ถ้าเจอพวกปลอมแบบไม่เนี้ยบจริงก็พอจะมีหนทางดูได้เหมือนกัน ซึ่งผมก็เชื่อว่าไม่มีทางปลอมได้เหมือน 100 % แน่นอน อันแรก ให้ดูที่บรรจุภัณฑ์ก่อนเลย ว่าดูแล้วมันรู้สึกมั่นใจมั้ย หยิบจับดูจะต้องไม่รู้สึก “ก๋องแก๋ง” เหมือนพลาสติกเกรดต่ำ ดูการปั๊มโลโกต้องคมชัด ดูที่ฝาปิด อยู่ในสภาพเรียบร้อยหรือเปล่า ปิดไว้อย่างแน่นหนาหรือไม่ ลองขยับๆ ดูหน่อย ถ้าเจอฝาแบบก๋องแก๋ง พลาสติกบางๆ เกรดต่ำ ประเภทจับทีแทบจะหลุดก็ไม่น่าจะใช่ ถ้าของแท้จะแน่นหนา และให้ความรู้สึกเวลา “คลึง” ที่ดีครับ…
ส่วน “ฉลาก” ก็จะพอบอกได้เช่นกัน ของแท้จะพิมพ์มาคมชัด ฉลากจะเป็นเนื้อกระดาษมันที่คุณภาพดี ไม่ลอกง่าย ถ้าของปลอมจะใช้วัสดุเกรดต่ำกว่า การ Screen ฉลาก ก็ย่อมไม่คมชัดเหมือนของแท้ ถ้าเจอเคสไม่แน่นอนก็เลี่ยงก่อนจะจ่ายตังค์นะจ๊ะ…
ถ้าเปิดฝาจุกออกมาแล้ว จุดที่ “เด่นชัด” ก็จะเป็น “ซีลใต้ฝา” (Cap Seal) ถ้าของแท้จะต้องมีความเงางาม เหนียวแน่น ถ้ามีตัว Screen ยี่ห้อ จะต้องคมชัดและชัดเจน สีไม่เพี้ยนไปเพี้ยนมา ลองเอาเล็บขูดๆ หน่อย ถ้าสีหลุดติดมานั่นแหละปลอมจริง ถ้าของแท้จะแน่นหนามาก ขูดให้เล็บแหกยังไม่หลุดลอกเลยครับ…
หลังจากที่มาถึงขั้นตอนการเปิดซิงแล้ว ให้สังเกต “สีน้ำมันเครื่อง” ให้ละเอียด น้ำมันเครื่องของใหม่แท้ๆ เนื้อน้ำมันเครื่องจะต้องมีความใสแวววาว ไม่มีฟอง ไม่ขุ่น ไม่มีตะกอนดำๆ โดยเด็ดขาด ให้ลองเทพิจารณาก่อนจะกรอกลงในเครื่องยนต์นะครับ และช่วย “ดมกลิ่น” ด้วย น้ำมันเครื่องปลอม ที่เอาของทิ้งแล้วมาทำใหม่ จะมีกลิ่น “เหม็นไหม้” ปน น้ำมันเครื่องแท้จะไม่มีกลิ่นนี้เด็ดขาดครับ…
เวลา “เท” ก็ให้สังเกตดูด้วย น้ำมันเครื่องของแท้ใหม่ๆ จะมี “ความหนืด” เทแล้วเป็นเส้นสายไหลอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าน้ำมันเครื่องปลอมที่เสื่อมสภาพแล้ว เวลาเทมันจะดู “ไม่ค่อยหนืด” เหมือนจะออกเป็นเหลวๆ น้ำๆ อะไรยังงั้น หรือเจอพวกที่ผสมมาหนืดเกินไป เวลาเทมันจะหนืดมากผิดปกติ อันนี้ก็มีครับ…
เมื่อเปลี่ยนถ่ายแล้ว ตอนติดเครื่องวอร์มไว้ ให้สังเกตเสียงเครื่องยนต์ด้วยว่ามีเสียงอะไรดังแปลกๆ ที่ไม่เคยเป็นก่อนหน้าที่จะถ่ายน้ำมันเครื่องโผล่มาหรือเปล่า ถ้าจู่ๆ มีเสียงแกร๊กๆ แปลกๆ ก็ให้รีบดับเครื่องและตรวจสอบทันที บางทีช่วงแรกๆ อาจจะดูไม่ออกครับ เพราะมันยังไม่ออกฤทธิ์ หลังจากขับไปสักพัก (ซึ่งไม่นานมาก) ก็ให้หมั่นสังเกตอาการดีๆ นะครับ ถ้ามีเสียงแปลกๆ เร่งไม่ค่อยออก เหมือนหนืดๆ บางทีขับไป “ไฟน้ำมันเครื่องโชว์” เฉยเลย หรือถ้ารถใครมี “มาตรวัดแรงดันน้ำมันเครื่อง” ถ้าสังเกตมาตั้งแต่แรก เราจะรู้ทันทีว่า “แรงดันตกผิดปกติจากก่อนหน้าหรือเปล่า” ในเงื่อนไขการขับแบบเดียวกัน ที่อุณหภูมิการทำงานของเครื่องปกติ ประเภทเร่งแล้วแรงดันขึ้นน้อยผิดปกติ หรือไม่ขึ้น อันนั้นแหละครับ เจอของปลอมชัวร์ เพราะน้ำมันพวกนี้มันเสื่อมสภาพมาอยู่แล้ว เสือกไปเจอน้ำมันอื่นๆ ปนมาเยอะแยะไปหมด คุณสมบัติในการหล่อลื่นมันจะเหลืออะไรล่ะครับ เอาเป็นว่า หลังจากถ่ายน้ำมันเครื่องแล้วก็ขอให้สังเกตอาการรถตัวเองกันหน่อย ถ้ามีสิ่งผิดปกติหลังถ่ายน้ำมันเครื่องให้รีบนำรถเข้าตรวจสอบทันที ปล่อยไว้พังลูกเดียวครับ…
ศึกษาก่อนใช้ หาข้อมูลก่อนเลือก !!!
ท้ายสุดแล้ว คนที่จะเป็น Key Man สำคัญในการเลือกใช้น้ำมันเครื่องใดๆ ก็ตามแต่ คนตัดสินใจที่ดีที่สุด ก็คือ “เรา” นั่นเอง จริงอยู่ ถ้าคนไม่รู้เรื่องก็ต้องอาศัยช่างเป็นผู้เลือก ซึ่งก็อยู่ที่ภูมิความรู้ของช่างคนนั้นๆ ว่า จะเข้าใจในเรื่องน้ำมันเครื่องถ่องแท้เพียงใด หรือ ร้านอะไหล่ที่ขายน้ำมันเครื่อง เขาก็ให้คำแนะนำได้ ก็ต้องฟังดีๆ ว่าเขาจะดันของที่เขาอยากขายหรือเปล่า แน่นอนว่าเขาก็ต้องดันขายน้ำมันเครื่องราคาสูงไว้ก่อน ถ้าเป็นรถเดิมๆ ก็ขอให้ “อ่านข้อมูลในคู่มือประจำรถ” ว่าเขาแนะนำให้ใช้แบบไหน ก็ตามนั้นได้เลยไม่มีปัญหา เราต้องรู้เพื่อที่จะไปสั่งซื้อได้ไม่ผิดแบบ เดี๋ยวนี้ง่ายครับ ข้อมูลมีเยอะแยะในเว็บไซต์ของบริษัทน้ำมันเครื่อง ซึ่งเขาจะมี Call Center หรือ ฝ่ายเทคนิค คอยตอบคำถามทั้งโทรศัพท์ ในเว็บ ในเฟสบุ๊ค ไม่แน่ใจก็เช็คข้อมูลก่อนเลยว่ารถเราควรจะซื้อใช้แบบไหน ดีกว่าไม่รู้แล้วเดาส่ง…
ภาพประกอบคำบรรยาย
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ใดๆ จะอยู่ในรถอะไรก็ตาม ต่างก็ต้องอาศัยการหล่อลื่นจาก “น้ำมันเครื่อง” ที่ถูกต้อง ถูกประเภท ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะชิ้นส่วนเคลื่อนไหวภายในต้องเสียดสีกันตลอดเวลาที่เครื่องทำงาน เสมือนคนถ้า “เลือดดี” สุขภาพดี ชีวีมีสุข แต่ถ้าปล่อยให้น้ำมันเครื่องเน่าหมดอายุ ต่อให้รถคันละสิบๆ ล้านก็ไม่รอดหรอกครับ
เครื่องยนต์ที่ถูกโมดิฟายเพิ่มพลัง น้ำมันเครื่องก็ต้องอัพเกรดตามไปด้วย ต้องใช้ของเกรดสูงที่ทนความร้อนได้เยอะ และเปลี่ยนถ่ายด้วยระยะเวลาที่เร็วกว่าปกติมาก เพราะสายโมพวกนี้คงไม่มีใครขับคลานๆ ชิวๆ แน่
เครื่องยนต์ดีเซล จะต้องการน้ำมันเครื่องที่มีสารชะล้างสูง เพราะพื้นฐานมีเขม่ามากกว่าเบนซิน
ปัจจุบัน เครื่องยนต์มีขนาดเล็กลง (DownsizingEngine) ซึ่ง Clearance เครื่องก็ไม่มากเหมือนรุ่นเก่า เพราะเทคโนโลยีในด้านโลหะวิทยาที่ดี ควบคุมการยืดหดตัวได้มากขึ้น เลยใช้น้ำมันเครื่องเบอร์ที่ค่อนข้าง “ใส” ได้ ถ้าเครื่องรุ่นเก่าไปเติมก็ “เสี่ยงพัง” นะครับ
น้ำมันเครื่องของแท้ จะอยู่ในบรรจุภัณฑ์และหีบห่อที่ดูสวยงาม แน่นหนา คือ ดูดีมีราคา ฉลากคมชัด สวยงาม ติดแน่นไม่ลอกง่ายๆ เหมือนของปลอมที่ทำมาด้วย “งานหยาบ” กว่า
อันนี้เป็นภาพโรงงานเถื่อนผลิตน้ำมันเครื่องปลอมในรัสเซีย ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้
มีการเอาน้ำมันเก่าๆ ที่ทิ้งแล้ว มาผสมสารฟอกชะล้างให้ดูเหมือนใหม่ แต่ก็ได้แค่เหมือนครับ ให้สังเกตด้วยวิธีที่บอกไปให้ละเอียด
ฉลากก็จะผลิตด้วยของเกรดต่ำ กรรมวิธีง่ายๆ ที่ยังไงก็ไม่เหมือนของแท้ เพียงแต่จะต่างกันมากน้อยแล้วแต่แหล่งว่า “ตั้งใจปลอม” ขนาดไหน
นี่เลย ผสมกันแบบ Home Made
มีเพียบ รอการถ่ายลงบรรจุภัณฑ์แบบปลีก มาหลอกมาหลอนผู้ใช้อย่างเราๆ ท่านๆ
อันนี้เป็นตารางที่บอก API SERVICE Category ในหมวดของ “เครื่องเบนซิน” ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม SA จนถึง SN ในปัจจุบัน (ในภาพสุดที่ SM ก็ถือว่าใช้ได้อยู่)
อันนี้เป็นตารางในหมวดของเครื่องดีเซล ล่าสุด คือ CI-4
ผ่านมาสองภาค ก็ควรจะ “จบ” สักที กับสาระของน้ำมันเครื่อง ที่เป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแต่ขอให้อ่านทำความเข้าใจแบบถ่องแท้ จะช่วยให้คุณลูกค้าได้เลือกน้ำมันเครื่องที่ “เหมาะสม” กับรถตัวเอง ไม่บ้าเห่อตามแรงเชียร์ว่า “ยิ่งแพงยิ่งดี” จริงๆ ไม่ใช่ล่ะ น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ก็มีทั้งเกรดธรรมดาและเกรดสูง รวมถึงเกรดสูงมากที่ใช้กับรถแข่ง แพงไปก็ไม่จำเป็น แล้วอะไรล่ะที่เหมาะสมกับเรา อ่านจบก็ขอให้ท่านเลือกตามเหตุตามผล ก็จะได้ใช้งานน้ำมันเครื่องที่คุ้มค่าราคา และอย่าลืม “เปลี่ยนถ่ายตามกำหนด” ด้วยล่ะครับ ถ้าคันไหนใช้งานหนัก หรือ ใช้งานในเมืองประเภท “จอดติดมากกว่าวิ่ง” ก็ขอให้ถ่าย “ก่อนกำหนด” บ้างก็ยังดีนะครับ อย่าไปขี้เหนียวครับ เพราะเครื่องพังหรือสึกหรอเร็วมันซ่อมแพงกว่าเยอะครับ ก็ขอขอบคุณที่ติดตามกันนะครับ สวัสดีครับ…