เช็ครถก่อนเดินทาง
เวลาช่างเดินทางผ่านไปไวเหลือเกิน ก็ยังคงจำบรรยากาศเฉลิมฉลองปีใหม่ในทุกๆ ปีที่ผ่านมาได้ เป็นช่วงที่ทุกคนเริ่มผ่อนคลาย เริ่มจะหากิจกรรมสนุกๆ กับครอบครัว เพื่อนฝูง เยี่ยมเยียนญาติพี่น้องต่างๆ ที่อาศัยวันหยุดยาวช่วงปีใหม่นี่แหละ ผมก็เข้าใจว่าหลายท่านก็ทำงานกันมาตลอดทั้งปี สะสมลาพักร้อนมาก็กระหน่ำหน่อยเหอะวะ จะได้หยุดยาวทั้งทีก็ขอให้ “หนำ” แน่นอนครับ การหยุดยาวก็ย่อมมีการ “เดินทาง” เกิดขึ้น สำหรับคนที่ต้องการไปต่างจังหวัด ไปเที่ยว ไปเยี่ยมครอบครัวที่จากกันมา นานๆ จะได้เจอกันที สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้แน่ คือ “รถ” ที่เป็นพาหนะในการพาเราไปแต๊ดแต๋ไหนต่อไหน ซึ่งเราต้องพึ่งพามันทุกการเดินทาง…
ถ้ารถพร้อม เราสามารถเดินทางไปกลับได้โดยสวัสดิภาพ แต่ถ้ารถไม่พร้อมล่ะ ??? จะเกิดอะไรขึ้น นอกจากจะเสียเวลา เสียอารมณ์ ไปไม่ถึงจุดหมาย ต้องรอช่างมาซ่อม รอรถมายกหรือมาลาก ความวุ่นวายจะบังเกิดทันที ค่าใช้จ่ายก็บานปลาย แทนที่จะได้ความเบิกบาน กลับกลายเป็นความเครียดแทน อย่าไปโทษรถอย่างเดียวครับ คุณนั่นแหละที่จะต้องดูแลมันให้ดี รถนะครับไม่ใช่วัวใช่ควาย ไม่สบายเจ็บป่วยมันจะไปหาหญ้ากินเองได้ บางทีเรื่องสุดวิสัยด้วยระบบมันมีปัญหาก็ว่าไปอย่าง แต่บางคนก็ประเภท “ใช้อย่างทาส” ไม่เคยดูไม่เคยแล แค่ล้างให้สะอาดยังไม่สนใจ อันนี้ก็สมควรแล้วล่ะที่จะเดี้ยงกลางทาง ใช้มันมากไม่รักษารถมันก็โมโหถือโอกาสเบิ้ลคุณคืนซะมั่ง !!!
เพราะฉะนั้น เรามาดูวิธีตรวจเช็ครถก่อนเดินทางไกลในขั้น “Advance” ฟังแล้วไม่ต้องตกใจ เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ยากอะไรเลยสำหรับคนใช้รถในรูปแบบ User ผมคงไม่ได้สอนท่านผู้อ่านที่น่ารักให้เป็นขั้น Mechanic หรือ Technician นั่นหรอก เพียงแต่ว่าให้ “เรียนรู้เพิ่มเติมด้วยความเข้าใจ” ในลักษณะของการเขียนที่ “เบาสมอง” แต่ “ไม่เบาปัญญา” โดยปกติก็จะมีบทความเหล่านี้ให้อ่านกันอยู่แล้ว แต่ผมอยากจะให้มันมีรายละเอียดที่ครบถ้วนขึ้นไปอีก จะได้เข้าใจตรงกันครับ…
ยิ่ง “ก่อน” ยิ่ง “ดี”
ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจถึง “วิถีมนุษย์” กันก่อน ส่วนใหญ่แล้วก็จะชอบ “ผลัดวันประกันพรุ่ง” อ่ะน่า…เหลืออีกตั้งเดือน ตั้งหลายวัน “เดี๋ยว” ค่อยดูก็ได้ ไอ้คำว่า “เดี๋ยว” นี่แหละตัวแสบ (ซึ่งไอ้ตัวกระผมเองก็เป็นครับ ไม่ได้วิเศษวิโสมาจากไหน) พอมาใกล้ๆ จะเดินทางก็เอาละ ลกๆ ลนๆ เวลาจะเช็ครถก็แทบจะไม่เหลือ ไหนจะจัดกระเป๋า สัมภาระ ของกิน เรื่องคนอีกสารพัด มึงอย่างกูอย่าง เชื่อเหอะครับว่าแค่นี้ก็ทำให้ท่าน “ลืม” เช็ครถ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในการเดินทางมานักต่อนักแล้ว…
ถ้าจะให้ดี ควรจะเริ่มโปรแกรมการตรวจเช็ครถก่อนล่วงหน้าเยอะหน่อยครับ อย่ามารอจุกตูดก่อนจะไปแค่วันสองวันแล้วเอารถไปออดอ้อนแกมขู่เข็ญให้ช่างซ่อมด่วนๆ คนอื่นก็คิดเหมือนเราครับ ช่วงก่อนเดินทางนี่ตามศูนย์บริการ ตามอู่ หรือ Car Service ต่างๆ รับรอง “แน่น” เพราะคนก็แห่เอารถไปทำ ก็ต้องเข้าใจนะครับ ช่างก็มีจำกัด เขาก็คนเหมือนกัน เหนื่อยเป็นเหมือนกัน การตรวจเช็คอาจจะมี “ข้ามขั้นตอน” ไปบ้าง เพราะต้องรีบส่งรถให้ลูกค้า ช่างที่ดีๆ เขาก็อยากทำให้ดีทุกคันแหละครับ แต่คุณลูกค้านี่แหละเร่งๆๆๆๆๆๆๆ จะเอาๆๆๆๆๆๆ รถไปเที่ยว ไปบีบช่างอีกแล้วเขาจะเอาเวลาที่ไหนทำให้คุณดีๆ อย่างใจล่ะครับ…
งานนี้ ถ้าเป็นรถที่ “มีอายุ” สักหน่อย อาจจะต้องมีรายการตรวจสอบค่อนข้างเยอะ เพราะใช้ไปของมันก็เสื่อมไปๆ (สงสัยว่าเสื่อมยังไง ให้เหลือบมองคนข้างๆ แต่อย่าให้รู้ตัวนะว่าคิดอะไรอยู่) ซึ่งการซ่อมบำรุงบางอย่างต้องใช้เวลาทำค่อนข้างเยอะ ก็ควรจะทำแต่เนิ่นๆ อย่างที่บอกไปครับ ถ้ามาจุกกันก่อนวันเดินทางอาจจะมีปัญหา โดยปกติถ้าติดวันหยุดทางอู่ส่วนใหญ่จะไม่รับรถแล้ว ไปโทษเขาก็ไม่ได้เพราะต้องเคลียร์คิวเก่าออกก่อน ตานี้ ถ้าฝืนใช้ไปก็มีความเสี่ยงจะทำเรื่องกรูหรือเปล่าวะ ถ้างั้นก็ทำแต่เนิ่นๆ ดีกว่าครับ…
ย้อนกลับมาถึงเรื่องที่เราจะคุยกันในครั้งนี้ ก็เป็นการตรวจเช็คสภาพรถก่อนเดินทางไกลในรูปแบบ D.I.Y. ที่เราสามารถตรวจสอบได้เอง โดยแบ่งเป็น “หมวดหมู่” ดังนี้ครับ…
รอบด้านนอกตัวรถ
ก่อนอื่นเราจะต้องสังเกตรอบๆ ด้านนอกตัวรถกันก่อน เพราะเป็นด่านที่เราจะเห็นครั้งแรก ส่งสายตาให้กันพอประมาณ แล้วเริ่ม “ลุย” เลยดีกว่า สายลุยไม่คุยเยอะ…
ความเรียบร้อยรอบคัน
ไม่มีอะไรมาก แต่ “มี” ให้ดูแล้วกัน ให้ลองเช็ครอบๆ ด้านก่อน ว่ามีอุปกรณ์อะไรไม่สมบูรณ์หรือเปล่า เช่น กันชนจะหลุด สเกิร์ตจะห้อย ฝาครอบล้อ (กรณีใช้ล้อกระทะ) เผยอ พวกนี้เวลาขับไปแล้วหลุด นอกจากเราจะเดือดร้อนแล้ว จะไปทำให้รอบด้านเดือดร้อนด้วย หลุดปลิวไปโดนใครเข้าก็เป็นเรื่องขึ้นมาอีก ถ้าเจอแบบนี้ก็ยึดให้เรียบร้อยก่อนจะดีกว่าครับ ไม่ยาก ถ้าเวลาจวนตัวจริงๆ ก็หาพวก “เทปกาวผ้า” เหนียวๆ หน่อย มาติดป้องกันชิ้นส่วนบินไว้ก่อนก็ยังดี…
ระบบไฟส่องสว่าง ขาดไปเป็นเรื่อง
เรื่องเบสิก แต่ถ้ามีปัญหาแล้วงานมานะครับ ไฟส่องสว่างรอบคันนี่สำคัญมากๆ กับการเดินทางไกล เพราะถนนหนทางตามต่างจังหวัด บางจุดก็มืดโคตรๆ ไม่มีไฟถนน หรือ มีแต่ไม่พอเพียง ทำให้ทัศนวิสัยแย่ ยิ่งถ้าไปเจอหมอกลง หรือ ลงภาคใต้แล้วเจอฝนตกกลางคืนแล้วไฟส่องสว่างติดไม่ครบ หรือถ้าซวยๆ ก็ไม่ติดเลย นี่แหละจะพาท่านไปเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุนะครับ เราลองมาไล่เช็คเป็นส่วนๆ ไปเลยครับ…
เริ่มกันจาก “ไฟหน้า” ก็จะมี 3 สเต็ป คือ “ไฟหรี่” หรือพวก Day Light อะไรต่างๆ ไฟหรี่จะใช้ต่อเมื่อแสงเริ่มลดน้อยลง อย่างตอน “โพล้เพล้” ยังไม่ถึงกับมืด ไฟหรี่ไม่ใช่ไฟที่ส่องสว่างเห็นทาง แต่เป็นไฟที่ “บ่งบอกตำแหน่งรถว่าเราอยู่ตรงไหน” เป็นจุดสังเกตได้นั่นเอง ต่อมาเป็น “ไฟต่ำ” ไอ้นี่แหละที่ใช้กันมากที่สุด สำหรับการส่องสว่างหาหนทาง เปิดตอนที่แสงอาทิตย์เริ่มจะหมด ไฟต่ำจะต้อง “ติดครบ” เพื่อให้การฉายแสงนั้นทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ถ้าติดไม่ครบ หายไปดวงหนึ่ง ทำให้การมองนั้น “บอด” ไปข้างหนึ่งเลยนะ เรียกว่าเห็นอยู่ครึ่งเดียว ค่อนข้างอันตรายครับ และรถที่สวนมาอาจจะคิดว่าเราเป็น “มอเตอร์ไซค์” ก็ได้ ไม่เผื่อว่าเป็นรถยนต์นี่ก็เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนได้มาก “ไฟสูง” ต้องมีครับ ในเมืองคงไม่เท่าไร แต่เจอทางมืดๆ ก็ต้องเปิดไฟสูงช่วยส่องทางเพิ่ม ต้องมีมันไว้ครับ บางทีติดครบ แต่ “ไม่สว่าง” วิ่งมาพวกนั่งกินเหล้าโบกจอดนึกว่ารถขายปลาหมึกปิ้งสาเหตุมาจากหลอดไฟอาจจะเสื่อมสภาพ โคมไฟสภาพแย่ ขุ่นมัว หรือ สายดินมีปัญหา ทำให้ไฟไม่สว่าง อันนี้ก็เปิดปัญหาได้อีกเช่นกัน พวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก รีบทำซะก่อนจะเป็นเรื่อง..
ต่อมา “ไฟเลี้ยว” คนส่วนใหญ่มีปัญหาชีวิตก็ไอ้พวกเปลี่ยนช่องทางไม่เปิดไฟเลี้ยวล่วงหน้า หรือไม่เปิดเลยนี่แหละ อุบัติเหตุเกิดรุนแรงบ่อยๆ ก็เพราะคนพวกนี้ เอาละ การเช็คไฟเลี้ยวก็ดูครับ มันจะต้องติดครบเท่าที่รถคันนั้นจะมี รถแต่ละคันก็อาจจะมีจำนวนไฟเลี้ยวไม่เท่ากัน ก็ต้องดูว่าติดครบไหม “ไฟฉุกเฉิน” เอาไว้ใช้ตอนจอดฉุกเฉิน ให้เป็นที่สังเกตว่าเออ กรูจอดอยู่นะ แต่ไม่ใช่เปิดตอนวิ่งผ่านสี่แยก หรือเปิดตอนฝนตก หมอกลง คงไม่ต้องพูดกันมากเพราะได้ยินกันบ่อยละ แต่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับไฟเลี้ยวอย่างหนึ่ง บางทีมันมีโอกาส “ขาดกลางทาง” ได้ ถ้าเปิดไฟเลี้ยวแล้วมันเกิด “กระพริบเร็วรัวผิดปกติ” นั่นแหละครับจะมีไฟเลี้ยวดวงหนึ่งที่หลอดขาด…
“ไฟเบรก” อันนี้โคตรสำคัญ ไม่มีมันความมั่นใจเราจะหายไปเกินร้อย เพราะถ้าเบรกแล้วไฟเบรกไม่ติด รถข้างหลังก็นึกว่าท่านยังไม่เบรก ตามมาใส่ตูดโครมเข้าให้ยับเยิน อันนี้ก็ต้องหาพรรคพวกมาคนหนึ่ง ให้เหยียบเบรกแล้วดูว่าไฟเบรกติดครบหรือไม่ และปล่อยเบรกแล้วดับหรือไม่ บางทีเจอ “ไฟเบรกค้าง” ตลอดเวลา ทำให้ไฟร้อนจัด หรือ แบตเตอรี่หมด ถ้าทิ้งไว้นานๆ โดยไม่รู้ตัว ส่วน “ไฟท้าย” อันนี้คนละอย่างกับไฟเบรกนะครับ ไฟท้ายจะติดต่อเมื่อเราเปิดไฟหรี่ และ ไฟหน้า เพื่อให้ข้างหลังรู้ว่าเราอยู่นี่นะ พอเหยียบเบรกไฟเบรกก็จะติดสว่างกว่าไฟท้ายครับ บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่ามันมีสองแบบ ถ้าไฟท้ายขาด เวลาวิ่งกลางคืนรถข้างหลังจะมองไม่เห็นรถเราในระยะไกล มาเห็นอีกทีใกล้ๆ ก็มีลุ้นล่ะ…
ยาง ฝากชีวิตบนหนึ่งเดียวที่ยึดถนน
ลองคิดตามนะครับ ยางเป็นเพียงส่วนเดียวที่สัมผัสกับพื้นถนน เนื้อที่เพียงแต่ 4 ฝ่ามือ บนยาง 4 เส้น มันจะมีการกำหนดชะตาชีวิตของเราได้แน่ๆ ถ้า “ยางมีปัญหา” จะเสียทั้งเวลา เกิดทั้งอุบัติเหตุร้ายแรง อย่างที่พาดหัวข่าวกันน่ากลัวๆ นั่นแหละครับ แต่เราป้องกันได้…
ก่อนอื่นเลย “เช็คสภาพยางแบบทั่วไป” ดูด้วยสายตาก่อน เช่น ยางอยู่ในสภาพเรียบร้อยพร้อมใช้มั้ย มีร่องรอยการเสียหาย โดนตะปูตำ หรืออะไรผิดสังเกตหรือเปล่า ยางแบน ลมอ่อนเกินไปไหม ถ้าเห็นว่ามันทรงไม่ค่อยดีก็ควรจะไป “เติมลมยาง” ให้ถูกต้อง ถ้าลมยางอ่อนเกินไป จะเกิดปัญหาเวลาวิ่งทางไกลยางจะร้อนจัด เพราะยางมัน “ไม่กลม” แก้มยางจะ “บี้” ตลอดเวลา เกาะถนนไม่ดี ทำให้เกิดภาระ (โหลด) มาก ทำให้ยางเสียหายได้ หรืออาจจะทำให้ “ยางระเบิด” เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวง หลายคนละเลยเรื่องลมยาง ทำให้เกิดเรื่องกันมาเยอะแยะ…
ถามว่า “เติมลมยางเท่าไรดี” ก็ขอให้อ้างอิงตาม “สเป็กเดิมของรถที่ท่านใช้อยู่” นั่นเอง บางคันก็เป็นสติกเกอร์อยู่ข้างเสา บางคันก็อยู่ที่คอนโซล บางคันก็อยู่หลังฝาเติมน้ำมันเชื้อเพลิง อันนี้ท่านต้องรู้นะครับว่ามันอยู่ไหน เปิดมาอาจจะงงๆ ว่าตกลงมุงให้กรูเติมเท่าไรกันแน่ว่ะ มันมีหลายหน่วยครับ มีทั้ง Bar (บาร์) Kpa (กิโลปาสคาล) แต่ของเราให้ดูหน่วยที่เป็น “PSI”ครับ เพราะมันคือ “ปอนด์” ที่เราคุ้นเคย ถ้ารถทั่วๆ ไปก็อยู่ราวๆ “30-32 ปอนด์” ซึ่งก็ต้องดูตารางอีก ถ้ามีน้ำหนักบรรทุกเยอะ นั่งเต็มคัน 4-5 คน ล่อสัมภารกชุดใหญ่ไปอีก ก็ควรจะเพิ่มลมยางล้อหลังไปอีก 2-4 ปอนด์ ครับ เพื่อให้มันสามารถรับน้ำหนักได้โดยไม่แบนซะก่อน เอาเป็นว่า ถ้าจะออกต่างจังหวัด ควรจะเพิ่มลมยางทั้ง 4 ล้อ ไปอีก 2 ปอนด์ เผื่อไว้ก่อนไม่เป็นไร เพราะเราต้องวิ่งไกล กันเหนียวไว้ก่อน แต่ถ้าบรรทุกเต็มพิกัดก็อย่าลืมเพิ่มลมยางล้อหลังไปอย่างที่บอก แล้ว “ห้ามลืมตรวจลมยางอะไหล่” นี่แหละมีแต่ไม่เคยสนใจ พอจะใช้ลมยางไม่มีก็ป่วยการ เพราะฉะนั้นเช็คลมยางอะไหล่ด้วยนะ…
ดู “สภาพยาง” ด้วยครับ ถ้ายางใช้มานานเกินไป ดอกเริ่มหาย ตัวยาง แก้มยาง เริ่มแข็งกระด้าง และเริ่ม “แตกลายงา” อันนี้แหละสัญญาณอันตรายแล้ว เพราะยางที่หมดสภาพ จะด้อยในทุกด้าน วิ่งระยะยาวพร้อม “ระเบิดตัวเอง” ควรจะเปลี่ยนยางชุดใหม่ให้เรียบร้อยก่อนเดินทาง อย่าขี้เหนียววัดดวงครับ ค่ายางกับราคารถ รวมถึง “ราคาชีวิต” มันไม่คุ้มหรอกครับ ก็อย่าลืมเปิดดูยางอะไหล่สักหน่อยครับ ถ้าเป็นรถเก่า ยางอะไหล่มันก็หมดอายุเป็นเหมือนกัน ถ้าดูทรงแล้วใกล้ลาโลกก็หายางเปอร์เซ็นต์สภาพดีหน่อยใส่ก็ได้ครับ อย่างน้อยก็อุ่นใจกว่า…
ระบบเบรก
จริงๆ ก็ขอให้ดู “น้ำมันเบรก” ก่อน ว่าอยู่ในระดับ MAX หรือเปล่า ถ้ามันพร่องมากผิดสังเกตจนถึง MIN ก็ต้อง “เข้าตรวจเช็ค” อาจจะมีการรั่วซึมของระบบเบรก ท่อน้ำมันเบรก ทิ้งไว้อันตรายมากครับ ดูสภาพน้ำมันเบรกด้วยครับ ถ้ามันดำเหมือนโอเลี้ยง แสดงว่ามันเก่ามากแล้ว ควรเปลี่ยนถ่ายใหม่ ถ้าน้ำมันเบรกหมดอายุ โอกาส “เบรกไม่อยู่ในความเร็วสูง” ยิ่งมีมาก เพราะความร้อนทำให้มันสูญเสียคุณสมบัติ อีกอย่างก็ต้องใช้ความรู้สึก ว่าตอนนี้เบรกยังทำงานได้ดีเหมือนเดิมมั้ย ถ้ามีอาการผิดปกติ เหยียบเบรกแล้วเหมือนมัน “ยุบ” ผิดปกติ ไหลๆ ไม่ค่อยอยู่ อาจจะมีการรั่วในระบบเบรก ถ้ามีเสียงดังแหลมๆ ก็ “ผ้าเบรกใกล้จะหมด” พวกนี้ถ้าผิดปกติควรรีบเข้าเช็คก่อนครับ เรื่องเบรกล้อเล่นไม่ได้นะ…
ตรวจเช็คของเหลวต่างๆ ให้เรียบร้อย
พวกของเหลวต่างๆ หน้าที่ของมันก็คือ “หล่อลื่น” และ “ระบายความร้อน” ให้กับเครื่องยนต์และระบบบส่งกำลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน อย่าย่ามใจว่ารถรุ่นใหม่จะไม่ต้องดูต้องแลอะไรก็ได้ ไม่เป็นไรก็ดีไป แต่ถ้ามันเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา รถใหม่ก็พังให้เห็นคาตามาเยอะแล้วครับ สำหรับของเหลวที่จะเช็คได้ด้วยตัวเอง บอกก่อนว่าทุกประเภทให้เช็ค “ขณะที่เครื่องเย็น” จะได้ค่ามาตรฐานและปลอดภัยที่สุด โดยหลักๆ ก็มีดังนี้…
เบสิคที่สุดก็ “น้ำหล่อเย็น” หรือ “น้ำหม้อน้ำ” นั่นเอง การตรวจเช็คจะต้องทำในขณะ “เครื่องเย็น” เท่านั้น อย่าได้ทำตอนเครื่องร้อนถ้าไม่อยากมือพองหน้าแหก จุดที่ต้องดูมี 2 ที่ คือ “กระป๋องพักน้ำ” ตอนเครื่องเย็นระดับน้ำควรอยู่ในระดับ MAX ไม่ควรปล่อยให้ใกล้ระดับ MIN ตอนเครื่องร้อนมีแรงดัน ทำให้น้ำดันมาอยู่ที่กระป๋องพักน้ำ จะสูงกว่าระดับ MAX อยู่ประมาณ 1-2 ซม. พอเครื่องเย็น แรงดันลด น้ำจะถูกดูดกลับไปที่หม้อน้ำเหมือนเดิม ระดับน้ำก็จะกลับมาปกติ อีกอย่าง “ไม่ควรเติมน้ำจนเกินระดับ” ตอนเครื่องร้อนจะทำให้ “น้ำดันออกท่อระบาย” ได้ เติมตามที่กำหนดน่ะดีแล้ว อีกจุดหนึ่ง คือ “น้ำในหม้อน้ำ” เครื่องเย็น เน้น เครื่องเย็น !!! เปิดดูว่ามีน้ำอยู่เต็มหรือเปล่า อย่าได้ให้ขาดเชียว ถ้าขาดมากแสดงว่า “มีรั่ว” ฝืนถูลู่ถูกังไปเดี๋ยวจะมีเรื่องได้ยกรถกลับ ยิ่งถ้า “ขึ้นเขา” เครื่องจะทำงานหนัก ความร้อนจะสูงกว่าวิ่งปกติ งานนี้มีเครื่องพังกันบ้างถ้าปล่อยให้น้ำแห้ง อีกอย่าง “น้ำยาหล่อเย็น” หรือ “คูลแลนท์” ต้องเติมไว้ให้ได้ตามกำหนดนะครับ มันจะทำหน้าที่ “ลดความร้อน” และ “หล่อลื่นระบบทางเดินน้ำทั้งหมด” จริงๆ มันมีประโยชน์มาก ใครยังไม่ใส่ก็จัดซะนะ…
ต่อมาจะอยู่ในหมวดของ “น้ำมัน” ก็จะมี “น้ำมันเครื่อง” ต้อง “วัดระดับ” เช็คให้อยู่ในระดับ “เต็ม” อย่าปล่อยให้มันพร่องไปจนเหลือน้อย อาจจะเกิดจากการระเหย หรือ “มีรั่วในระบบ” ทำให้น้ำมันในระบบไม่เพียงพอ ถ้าเหลือน้อยมากๆ จะทำให้เครื่องยนต์มีปัญหาได้ ถ้าใช้มานานจนใกล้ถึงระยะเปลี่ยนถ่าย จัดซะก่อนเดินทางเลยครับ น้ำมันเครื่องเก่าหมดอายุ ทำให้การหล่อลื่นด้อยลง เครื่องร้อนขึ้น เคลื่อนที่ฝืด กินน้ำมันมาก วิ่งไม่ออก สึกหรอสูง ฯลฯ มีดีตรงไหนล่ะครับ เปลี่ยนซะจะได้วิ่งตัวปลิว ส่วน “น้ำมันเกียร์ออโต้” หรือ “น้ำมันคลัตช์” สำหรับเกียร์ธรรมดา ก็ต้องตรวจเช็ค ใช้หลักการเดียวกันครับ…
ของเหลวอื่นๆ น้ำมันเบรก พูดถึงไปแล้วในวรรคต้น “น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์” อย่าลืมเติมให้ถึงระดับ COLD ขณะเครื่องเย็น น้ำมันเพาเวอร์กับน้ำมันเกียร์ออโต้จะเป็นตัวเดียวกันครับ เพราะเป็นระบบไฮดรอลิกเหมือนกัน ที่มีก็ไอ้จุกไอ้จ้อยอื่นๆ เช่น “น้ำกลั่นแบตเตอรี่” เปิดดูแล้วเติมให้ได้ระดับ ถ้าปล่อยแห้งจะทำให้แบตเตอรี่ร้อนจัด เกิดปัญหาพังล่ะก็งานงอก ยิ่งไปอยู่ที่เปลี่ยวๆ คงไม่ต้องสืบ “น้ำฉีดล้างกระจก” ไอ้นี่ก็ต้องมี เพราะการวิ่งไกลๆ จะมีเศษแมลงที่โดนรถท่านพิฆาตเต็มกระจก อาจจะเจอฝนตก หมอกลง ฝุ่นลูกรัง อะไรต่างๆ มากมาย จะได้มีน้ำฉีดล้างแล้วค่อยใช้ไอ้นั่น (ปัดน้ำฝน) ลงมือซอย จะให้ดีก็ซื้อพวก “น้ำยาสำหรับฉีดล้างกระจก” ผสมลงไปนหน่อย จะทำให้กระจกสะอาด ทัศนวิสัยดีเยี่ยมปลอดภัย…
พกของไปด้วยก็ดีนะ
งานนี้แล้วแต่ตีความหมาย แต่ผมหมายถึงของที่ควรจะติดรถไปด้วย เช่น น้ำสำหรับใช้เติมรถ ใส่ขวดพลาสติกขนาดใหญ่ไปสักหน่อย เผื่อจะใช้ล้างมงล้างมืออะไรต่างๆ ได้ด้วย พวก “หลอดไฟสำรอง” ก็ควรมี เผื่อหลอดขาดกลางทาง เปลี่ยนไม่ยากครับ “ฟิวส์สำรอง” ก็เตรียมไปหลายตัวหน่อย เพราะถ้าฟิวส์ขาดมีเปลี่ยนก็ยังถือว่ารอดมาได้ “น้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเบรกสำรอง” พกไปซักอย่างละ 1 กระป๋องเล็ก เผื่อเติมยามฉุกเฉิน ส่วนอื่นๆ เช่น เครื่องมือซ่อมรถ ของติดรถโดยมากก็มีอยู่แล้ว กากบาทถอดนอตล้อ สายพ่วงแบตเตอรี่ สำคัญมากสำหรับรถเกียร์ออโต้ สายลากรถอย่างดีเฉพาะทาง ควรจะมีติดไว้ครับของพวกนี้ ให้จำไว้ว่า “มีแล้วไม่ได้ใช้ ดีกว่าจะใช้แล้วไม่มี” ครับ !!!
วางแผนการเดินทางให้ชัดเจน เผื่อเวลาไว้เยอะๆ มีแผนสำรองเสมอ
พอเช็ครถเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือ “การวางแผนเดินทาง” เช่น จะไปจุดนี้ เส้นทางไหนสะดวกสุด ไม่ใช่ใกล้ที่สุดเสมอไปนะครับ เพราะบางเส้นทางระยะสั้นกว่าจริง แต่เจอทางขับยากๆ โค้งเยอะ พวกทางสายเก่าทั้งหลาย ถ้ามีทางสายใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นถนนใหม่ กว้าง ตัดตรงกว่า ทำให้เราขับรถได้ง่ายและสบายขึ้น เว้นแต่สาย “ผจญภัย” ชอบขับเส้นทางยากๆ ท้าทายธรรมชาติ แต่เช็คให้ดีว่า “มีปั๊มน้ำมันหรือไม่” ถ้ามี มีอยู่จุดไหนบ้าง อันนี้สำคัญนะครับ ถ้าไม่มีปั๊มก็เตรียมแย่งข้าวลิงกินได้เลย ถ้าไม่ชินเส้นทาง แนะนำว่าให้วิ่ง “ทางสายหลัก” ไว้ก่อน เพราะจะมีข้อมูลใน GPS ว่ามีอะไรอยู่จุดไหนบ้าง เดี๋ยวนี้เส้นทางหลักเกือบทั้งหมดก็จะเจริญแล้วครับ…
แต่บางทีเราต้องมี “แผนสอง” ไว้ด้วย เกิดทางนี้มีอะไรไม่คาดฝัน เช่น ถนนเสียหาย กำลังก่อสร้าง เกิดอุบัติเหตุข้างหน้ารถติดไปไม่ได้ จะได้มีทางสำรองเลี่ยงไปได้ ตามประสบการณ์การเดินทางของผมเรื่องแผนสองแผนสามนี่ขาดไม่ได้ การศึกษาเส้นทางตอนนี้ง่ายมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ แล้วครับ เพราะมี “โปรแกรมนำทาง” ทั้ง GPS หรือ Google Maps ให้เราเลือกเส้นทางได้ เรียกว่าเรียนรู้การใช้งานให้ดีจะช่วยเราได้มากเลยในการเดินทางไปเส้นทางใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย อย่ามัวแต่ใช้นั่งแชทอย่างเดียว ใช้มันให้เป็นประโยชน์ครับ และเผื่อเวลาเดินทางไว้มากหน่อย ศึกษาจากโปรแกรมนำทาง ว่าจากจุด A ไปจุด B ใช้เวลาประมาณเท่าไร เราก็เผื่อไว้เกินหน่อย จะได้ขับใจเย็นๆ สบายๆ ถ้าปล่อยเวลากระชั้น ไม่รักษาเวลา ทำให้ “ลก” รีบๆ ขับรถเร็วฝ่านรกกลัวไปไม่ทัน ทำให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงได้…
ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท ระหว่างขับ
มาถึงตอนท้าย การเดินทางจะจบลงอย่างไร ก็อยู่ที่ “คุณ” นั่นแหละ รถมันไม่ได้วิ่งได้เองนี่ถูกมั้ย ผมชอบมากเลยกับคำว่า “ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท” นี่คือความจริง คนขับจะต้องพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน ถ้าขับรถนานๆ แล้วง่วง ขอให้หาที่จอดปลอดภัยนอนพักผ่อนสักงีบก่อนไปต่อ หรือไม่ก็เปลี่ยนคนขับสำรองที่สภาพยังดีอยู่มาขับต่อ อย่าฝืนขับทั้งๆ ที่ง่วง สำคัญ “อย่าเมา !!! โดยเด็ดขาด” ต้องคิดเสมอว่าเรากำลังกำหนดชีวิตตัวเรา คนรอบข้าง และคนใช้รถใช้ถนนอื่นๆ อยู่นะครับ การขับรถก็ต้องใช้ “สติ” ให้มากๆ การเดินทางในช่วงเทศกาลจะมีการจราจรหนาแน่น ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังสูง อาจจะเจอคนขับรถที่ไม่ถูกใจอวัยวะใช้เดินของเราบ้างก็ “ใจเย็นๆ” กันทุกฝ่าย ถ้าทุกคน “ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท ระหว่างขับ” ได้ รถพร้อม คนพร้อม !!! ทำให้การเดินทางเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและสวัสดิภาพครับ…
“ขอให้ทุกท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพในเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ มีความสุข ปลอดภัย สวัสดีปีใหม่ 2017 ครับ”