เรื่องของการแต่งรถนั้นว่าได้ไม่จบ ต่อเมื่อกิเลสของคนยังมี ไอ้ที่มีดีก็ย่อมมีดีกว่า ตามกำลังทรัพย์ที่ตัวเองหามาได้ เงินเยอะ ซื้อของดีได้ แต่ใช่ว่าได้ดีเสมอไป หากขาดความเข้าใจในการทำ หรือ ขาดความรู้ในอุปกรณ์นั้นๆ ซึ่งจะทำให้ใช้ของแต่งนั้นๆ ไม่คุ้มค่าราคา ประมาณว่า “จ่ายแสนใช้ได้หมื่น” งั้นแหละ หรือไม่ก็อาจจะมีข้อผิดพลาดทำให้เกิดอันตรายได้อีก ครั้งนี้ เรามารู้จักอุปกรณ์ช่วงล่างอย่างหนึ่งที่นิยมกันมากๆ ในการเริ่มแต่งรถแรกๆ คือ “โช้คอัพแต่ง” หรือ “โช้คซิ่ง” ตามภาษาวัยรุ่นโดยต้องการเพิ่มสมรรถนะการยึดเกาะถนนให้เหนือว่าโช้คเดิมติดรถ แต่ว่า โช้คแต่ง มันมีมากมายหลายอย่างให้เลือกซื้อ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะ ว่าต้องโดนตัวไหนถึงจะดี ไอ้ที่เขาพูดๆ กัน หรือ โฆษณาเป็นวรรคเป็นเวร คืออะไร เชื่อได้หรือเปล่า
โมโน หรือ มโน
เริ่มกันก่อนเลยครับ สำหรับโครงสร้างของโช้คอัพแต่ง หรือ “โช้คซิ่ง” ตอนนี้โฆษณากันเหลือเกินว่า “โมโนทูบ” (Mono Tube) เทพนักเทพหนา อะไรคือเทพ เทพจริงหรือเทพกำมะลอ บางคนก็ได้ยินเขาว่าดีๆๆๆๆ โดยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ก่อนอื่น เรามารู้ให้กระจ่างกันเลย ว่า “โมโน” หรือ “มโน” ดีจริงไหม แล้วนอกจาก โมโน แล้วยังมีอะไรอีกบ้าง
โช้คอัพกระบอกเดี่ยว หรือ Mono Tube
โครงสร้างของ “กระบอกโช้ค” จะเป็นแบบชิ้นเดียว หรือ กระบอกเดี่ยวดื้อๆ ทื่อๆ งั้นแหละ อ้าว แล้วมันดีได้ยังไง แล้วทำไมแพง แล้วทำไมถึงถูกเลือกทำเป็นโช้คซิ่ง ดูไม่มีอะไรนะครับ แต่ “ดูให้ดี” เนื่องจากตัวกระบอกเดี่ยว มีความหนาไม่มากนัก จะต้องใช้ “วัสดุที่มีความแข็งแรงสูง” ทนต่อแรงแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี เพราะถ้ากระบอกไม่แข็งแรงพอ โดนอะไรหน่อยก็ทำให้กระบอกเบี้ยว พังทั้งระบบเพราะลูกสูบในโช้คขึ้นลงติดขัด แรงดันรั่ว โช้คอัพก็เสียเลย ก็จึงต้องใช้วัสดุชั้นดีที่ทนทานมาก ๆ และ “น้ำหนักเบา” อีกด้วย จึงทำให้มีราคาแพงกว่าโช้คอัพแบบกระบอกคู่ หรือ Twin Tube ที่เราจะโม้กันถึงในหัวข้อต่อไปไอ้เรื่องแพงก็ต้องทำใจ แต่ข้อดีมันมีมากกว่านั้น ตามนี้เลยนะ…
- พื้นที่ด้านในมีมากกว่าโช้คอัพแบบกระบอกคู่ถ้าเทียบในขนาดกระบอกเท่ากัน เนื่องจากตัวกระบอกไม่มีอะไรขวางด้านใน ซึ่งแน่นอนว่า เราสามารถ “ใส่วาล์วและลูกสูบที่มีขนาดใหญ่กว่าแบบกระบอกคู่ได้”ซึ่ง การไหลของน้ำมันก็จะดีกว่า ตัวกระบอก “บรรจุน้ำมันได้เยอะกว่า” ทำให้การตอบสนองของโช้คอัพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากน้ำมันเยอะก็ทำให้โอกาสโช้คอัพร้อนจน “เฟด” หรือ น้ำมันเสื่อมความหนืด ก็มีน้อยลง…
- “ห้องแก๊สกับน้ำมันจะแยกกันอย่างเด็ดขาด”โดยแบ่งกันด้วย “ลูกสูบอิสระ” หรือ Free Piston มันจะลอยตัวอยู่ ไม่ยึดติดตายกับแกนโช้ค เมื่อมีแรงกดจากน้ำมัน ลูกสูบอิสระก็จะถูกแก๊สด้านล่างดันต้านไว้ เพื่อให้โช้คอัพไม่ยุบตัวมากเกินไปจน “ยัน” ในทางกลับกัน ทำให้การเกาะถนนดีกว่า เพราะมันจะพยายามดันล้อให้ติดถนนไว้ตลอด ในจังหวะที่โช้คยืด (Rebound) ลูกสูบอิสระจะถูกแก๊สดันขึ้นไป เพื่อดันไม่ให้ห้องน้ำมันเกิดฟองอากาศ ทำให้น้ำมันจะเต็มระบบตลอดเวลานั่นเอง…
- ประการสุดท้าย (เท่าที่นึกออก)“ระบายความร้อนได้ดี” เพราะตัวกระบอกเป็นแบบชั้นเดียว มีความหนาไม่มากนัก ดังนั้น การระบายความร้อนจึงทำได้ดีกว่าแบบกระบอกคู่ เมื่อระบายความร้อนได้ดีแล้ว จะส่งผลให้น้ำมันโช้คอัพไม่เกิดอาการร้อนเกินไป (Over Heat) ทำให้คงความหนืดได้อย่างต่อเนื่อง โช้คอัพจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
โช้คอัพแบบกระบอกคู่ หรือ Twin Tube
เป็นแบบที่ใช้งานกันอยู่ทั่วไป เหตุที่มันเป็นกระบอกคู่ ก็เนื่องจากว่ามันเป็น “กระบอกสองชั้น” ฟังดูเหมือนจะล้ำ ซึ่งการทำงานค่อนข้างซับซ้อนกว่าแบบ Mono Tube พอสมควรเลยทีเดียว มาดูโครงสร้างกัน กระบอกด้านในทำหน้าที่เป็น “กระบอกสูบ” ที่จะมีน้ำมันเก็บเอาไว้เต็ม ส่วนช่องว่างระหว่างกระบอกด้านในกับกระบอกด้านนอก จะเป็น “ห้องน้ำมันสำรอง” ที่จะมีน้ำมันเก็บสำรองไว้ ถ้าเป็นโช้คอัพแบบ “น้ำมัน” จะมีน้ำมันโช้คบรรจุประมาณ 2 ใน 3 ส่วนที่เหลือจะเป็น“อากาศ” บรรจุไว้ ทำให้น้ำมันมีการเคลื่อนไหวได้ โช้คอัพก็จะทำงานได้นุ่มนวลดี ถ้าจุน้ำมันเต็มก็ “ดันกระบอกแตก” แต่ถ้าเป็น “โช้คอัพแก๊ส” ก็จะบรรจุ “แก๊ส” ไว้ในห้องน้ำมันสำรองนี้เลย ซึ่งห้องแก๊สจะไม่ได้แยกโดยเด็ดขาดเหมือนแบบ Mono Tube ซึ่งแก๊สกับน้ำมันจะแยกกันด้วยตัวของมันเอง ตัวแก๊สจะทำหน้าที่ “ดัน” ให้โช้คตอบสนองได้รวดเร็ว การคืนตัวเร็ว ยุบตัวช้า ทำให้รถเอียงน้อย ตอบสนองดี แต่จะมีความแข็งมากกว่าโช้คน้ำมัน เพราะแก๊สมันพยายามดันสู้ตลอดเวลา ก็ได้เรื่องการเกาะถนนที่ดี ลดอาการโคลงตัว แต่ความนุ่มนวลก็จะน้อยลงกว่าโช้คน้ำมัน
การทำงานของโช้คอัพแบบกระบอกคู่ ด้านในกระบอกสูบ ก็จะมีห้องแรงดันสองห้อง คือ ด้านบน และด้านล่าง กั้นโดยลูกสูบ ตัวลูกสูบก็จะมีวาล์วติดอยู่กับแกนโช้คอัพ เคลื่อนที่ตามกันไป ด้านล่างสุดของกระบอก จะมี “เบสวาล์ว” (Base Valve) ทำหน้าที่ระบายหรือกักแรงดันที่จะไปยังห้องน้ำมันสำรอง เมื่อโช้คอัพยุบตัว น้ำมันจะดันวาล์วของลูกสูบให้เปิด แรงดันจะไหลขึ้นห้องบนแรงดันในห้องล่างจะเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำมันที่ไหลเพิ่มเข้ามาจากห้องบนสู่ห้องล่าง ตรงนี้จะทำให้เกิดแรงต้านขึ้น มันก็จะไปดันเบสวาล์ว ให้เปิดเข้าสู่ห้องน้ำมันสำรองระหว่างกระบอกนั่นเอง ถ้าเป็นโช้คอัพแก๊ส แรงดันแก๊สในห้องน้ำมันสำรองก็จะต้านไว้อีกระดับ ทำให้โช้คอัพเกิดความหนืด ส่วนในทางกลับกัน ถ้าเป็นจังหวะยืด ห้องแรงดันด้านล่างจะเกิดช่องว่างขณะรอน้ำมันจากห้องบนไหลลงมา ตรงนี้แรงดันในห้องน้ำมันสำรองจะดันเบสวาล์วให้เปิด น้ำมันจากห้องสำรองก็จะไหลเข้ามาที่ห้องด้านล่างแทนที่ช่องว่างนั่นเอง…
จุดเด่นของโช้คอัพแบบ Twin Tube คือ ต้นทุนการผลิตถูกกว่า วัสดุการทำกระบอกไม่จำเป็นต้องแพงและดีเหมือน Mono Tube เพราะกระบอกสูบจริง ๆ มันอยู่ด้านใน ด้านนอกเหมือนเป็นเปลือกหุ้มและเป็นห้องน้ำมันสำรอง จึงไม่ค่อยกลัวเรื่องแรงกระแทกนิด ๆ หน่อย ๆ จึงเป็นข้อดีที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป ส่วนข้อเสียก็คือ กลไกภายในจะซับซ้อนกว่าแบบ Mono Tube และถ้าเทียบกับขนาดกระบอกเท่ากัน แบบ Twin Tube จะทำลูกสูบและวาล์วได้เล็กกว่า การระบายความร้อนไม่ดีเท่าที่ควร เพราะกระบอกสูบมันอยู่ชั้นใน ทำให้วิ่งไปนาน ๆ ใช้งานหนัก ๆ น้ำมันโช้คอัพจะร้อนกว่า แต่ไม่แน่ครับ ถ้าผลิตโดยใช้วัสดุเกรดดี น้ำมันเกรดสูงที่ทนความร้อนได้มาก ออกแบบวาล์วดีๆ ก็อาจจะดีกว่า Mono Tube บางรุ่นก็ได้
ประเภทของโช้คแต่ง
โช้คแต่งมีหลากหลายประเภทครับ สำหรับการใช้งานหลากหลายรูปแบบ แบ่งเป็น 3 แบบ หลักๆ ดังนี้…
โช้คแต่งแบบปรับความสูงไม่ได้
ก็จะเป็นโช้คที่หน้าตาเหมือนโช้คเดิมติดรถ เพียงแต่มีการออกแบบอัพเกรดสมรรถนะให้สูงขึ้น หนึบแน่นมากขึ้น โช้คแบบนี้จะเป็นแบบปรับความสูงไม่ได้ ไม่มีเกลียวอะไรทั้งสิ้น เบ้าสปริงและเบ้าโช้คจะมีขนาดใหญ่เท่าของเดิมโรงงาน โช้คแบบนี้จะออกแบบมาให้ใส่กับ “สปริงเดิม” ติดรถได้ด้วย สำหรับคนที่ชอบความหนึบเพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง แต่ไม่อยากจะโหลดรถ นัยว่ายังติดความนุ่มนวลอยู่นั่นเอง แต่ถ้าเป็นรุ่นดีๆ หน่อย ก็จะ “ปรับความหนืดได้” คนละประเด็นกับ “ปรับส่วนสูง” นะครับ ส่วนใครที่ต้องการ “โหลด” จะต้องหาสปริงโหลดตรงรุ่นมาใช้ ข้อดีก็คือ ยังคงใช้เบ้าโช้คอัพเดิมที่เป็นยาง รวมถึงยางรองสปริงของเดิมได้ ทำให้เกิดความนุ่มนวลและไม่ค่อยมีเสียงดัง ข้อเสียก็คือ “ไม่สามารถปรับความสูงได้ตามใจชอบ” ความสูงจะกำหนดจากความยาวสปริงที่ใส่เท่านั้น เรียกว่าขั้นตอนวุ่นวายคือการเลือกสปริงให้ถูกใจนี่แหละ โช้คแบบนี้ จะนิยมกับคนที่ชอบซื้อชุดแต่งสำเร็จรูป แบบ “ใส่ทีเดียวจบ” มักจะออกแนวผู้ใหญ่ๆ ที่ขี้เกียจมานั่งปรับโน่นปรับนี่เยอะแยะ หรือรถบ้านที่อยากจบได้ไม่เรื่องเยอะ ก็ยังมีขายอยู่แต่ไม่นิยมเท่าแบบ “ปรับได้” ที่เราจะพูดถึงต่อไป
โช้คอัพแบบ สตรัทปรับเกลียว
เป็นโช้คอัพที่ยอดนิยมในยุคก่อน พัฒนามาจากแบบตะกี้ โดยการเพิ่ม “เกลียว” สำหรับปรับเบ้าสปริงให้สูงต่ำได้ตามใจชอบ ตัวสปริงเองก็จะเป็นทรงกระบอก ที่เรียกกันว่า “สปริงหลอด” ที่มีหลายขนาด ทั้งค่าความแข็ง หรือ “ค่า K.” รวมถึงความยาวให้เลือกได้หลากหลาย นิยมใช้ในวงการมอเตอร์สปอร์ต และวงการรถซิ่งก็เอามาใช้บ้าง แบบนี้ดีอย่าง คือ “สามารถเซ็ตได้ตามต้องการ” เพราะความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การขับขี่ ขนาดล้อที่ใส่ อยากได้เตี้ยแค่ไหนก็ปรับเอา เตี้ยเกินไปก็เอาขึ้น โย่งไปหน่อยก็เอาลง ก็ขึ้นๆ ลงๆ แม่งอยู่ยังงั้น เพลินดีถ้ามีเวลา
สำหรับข้อเสีย มีครับ ก็คือ “การปรับความสูงต่ำจะมีผลกับค่าการทำงานของช่วงล่างทั้งหมด”โดยเฉพาะเรื่องของ “ค่าพรีโหลดสปริง” หากเราปรับให้สูงขึ้น ต้องหมุนเบ้าเพื่อบีบสปริงขึ้น จะทำให้ช่วงการทำงานของสปริงลดลง เกิดความกระด้างมากขึ้น โช้คอัพก็จะต้อง “เขย่ง” ยืดไปมากกว่าเดิม ทำให้ระยะยืดน้อยลง ตรงกันข้าม ถ้าปรับเตี้ยเกินไป อาจจะเกิดการ “โช้คยัน” กระแทกด้านล่างเกิดขึ้นได้ และจะมีปัญหากับรถที่ “เสียทรง” มา จากการแข่งขัน หรือ ใช้งาน หรือ อุบัติเหตุ รถสูงไม่เท่ากัน เวลาเราปรับแก้สปริงจะบีบไม่เท่ากัน ทำให้รถเกิดอาการกระด้าง ไม่เกาะถนน ขับแล้วแปลกๆ ไม่สัมพันธ์กัน ก็เลยมีสเต็ปต่อไปในการแก้ครับ
โช้คอัพสตรัทปรับเกลียวแบบ “สไลด์กระบอก”
ในปัจจุบัน โช้คซิ่งจะถูกผลิตขึ้นมาเป็นแบบนี้ คำว่า สไลด์กระบอก ก็คือ “ปรับความสูงที่ตัวกระบอกโช้คอัพได้เลย ไม่ต้องไปปรับที่เบ้าสปริงอีกแล้ว” เพราะฉะนั้น จะแก้ปัญหาเรื่องการบีบสปริงในกรณีปรับสูงขึ้น รวมถึงการยันของโช้คอัพเวลาปรับเตี้ย ตอนนี้ ถ้าเราเซ็ตค่าสปริงได้แล้ว ก็มาปรับความสูงที่ตัวกระบอก “แยกกัน” โดยสิ้นเชิง บทสรุป “จะปรับอย่างไรก็ตาม ค่าการทำงานของโช้คอัพและสปริงจะไม่เปลี่ยนแปลง”นี่แหละครับเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะรถที่ตัวถังบิดเบี้ยวมา รถซิ่ง รถแข่ง ที่ต้องทนแรงกระแทกมากๆ พอเก่าๆ ตัวถังจะเริ่มบิด รวมถึงรถอุบัติเหตุ ซึ่งจำเป็นต้องปรับความสูงไม่เท่ากัน เพื่อให้รถมันกลับมาเท่ากัน (งงไหมครับ) ซึ่งโช้คอัพและสปริงจะทำงานได้สมบูรณ์ เพราะเราไม่ได้ไปยุ่งกับมัน ปรับที่กระบอกก็ไม่เกี่ยวกัน และรถที่ต้องการ “ปรับสมดุลย์น้ำหนัก” เน้นสมรรถนะการยึดเกาะสูงสุด เพราะการปรับความสูงสามารถกระก็จะสามารถใช้ประโยชน์กับโช้คอัพแบบสไลด์กระบอกนี้ได้เต็มที่
โช้คซิ่ง มีประโยชน์อย่างไร
จากเดิมที่รถซิ่งงบไม่มาก จะโหลดด้วยวิธี “อัดโช้ค ตัดสปริง” ซึ่งเป็นวิธีโบราณ การอัดโช้คถ้าทำได้ตามมาตรฐาน มีการทดสอบดีๆ มันก็พอใช้ได้ครับ ส่วนการตัดสปริงเป็นวิธีที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะการตัดสปริงด้วยแก๊ส ทำให้เหล็กร้อนและเสียความยืดหยุ่น แข็งกระด้าง พร้อมหักและแตกได้ทุกเมื่อ !!! รู้แล้วก็เอาเลยนะครับถ้าอยากลอง ดังนั้น โช้คและสปริงซิ่งถึงถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเพิ่มสมรรถนะการยึดเกาะถนน ปัจจุบัน มีหลายแบรนด์ให้เลือก ตั้งแต่ญี่ปุ่นแท้ๆ ก็แพงหน่อย หรือ ญี่ปุ่นผลิตนอกประเทศ ก็ไม่เลว เพราะมีมาตรฐานควบคุม ส่วนประเทศอื่นๆ เดี๋ยวนี้ก็พัฒนาไปมาก โช้คซิ่งสมัยนี้จึงปรับความหนืดได้หลายระดับ และไม่แข็งกระด้างเหมือนยุคเก่าๆ เพราะหลายแบรนด์ก็มาพัฒนาและออกแบบให้เหมาะสมกับถนนเมืองไทยที่ “แสนดี” (เฮียๆ) รวมถึงวัสดุที่พัฒนามากขึ้น ทำให้การขับขี่เป็นไปอย่างมั่นใจมากขึ้น และมีสำหรับรถยุคใหม่แทบทุกรุ่น ตั้งแต่ Super Car ไปยัน Eco Car เลย
เลือกให้ดี อย่าคลั่งของแพง
หลายคนอาจจะคิดว่า ซื้อโช้คซิ่งรุ่นยิ่งแพงยิ่งดี เหตุผลนี้จริงครับ เพราะถ้าราคาแพง จะได้เรื่องคุณภาพของที่ดี ความทนทานสูง สวยงาม สมรรถนะการเกาะถนนตอบสนองได้ดีเยี่ยม ปรับได้หลายฟังก์ชัน แต่ !!! ต้องพิจารณาว่า มันเหมาะสมกับการใช้งานของเราหรือเปล่า อย่างไปเอาโช้คที่เซ็ตไว้สำหรับแข่งขันเป็นหลักมาใช้งานบนท้องถนน บางคนคิดว่า “ยิ่งแข็งยิ่งเกาะ” ผิดครับ แข็งเกินไปทำให้เกิดความกระด้างและสะเทือนมาก เพราะเขาออกแบบไว้วิ่งสนามเรียบๆ การเซ็ตค่าจึงไม่เหมาะกับการวิ่งถนน และยิ่งทำให้ “รถไม่เกาะถนน” เพราะความกระด้างทำให้รถลอยตัว ไม่ซับแรง จะต่างอะไรกับ “กระดาน” นั่นเอง หลายคนเจอปัญหานี้ขับห่วยกว่าโช้คเดิมติดรถก็เยอะแยะไป โดยเฉพาะคนที่ซื้อโช้คมือสองมาแต่ไม่รู้รุ่นอะไร ไว้ใช้งานแบบไหน เพราะฉะนั้น ถ้าใช้งานปกติทั่วไปด้วย ก็เน้นโช้ครุ่น Street อะไรพวกนี้ก็พอ ราคาจะย่อมเยาว์หน่อย ตอนนี้เริ่มต้นประมาณ “สองหมื่นปลาย” ก็ซื้อได้แล้ว ความนุ่มนวลและหนึบก็โอเครับได้ และอย่าลืม “เลือกช่างใส่” ด้วยนะครับ เดี๋ยวนี้ถ้าเป็นโช้คใหม่ ซื้อจากตัวแทนจำหน่ายก็มักจะติดตั้งให้ด้วย จากช่างที่ได้รับการเทรนมา (เป็นอย่างดีหรือเปล่า ก็ต้องวัดดวงเหมือนกัน) อย่างน้อยก็มีรับประกัน แต่ถ้าไปซื้อโช้คมือสองมา ก็ต้องเลือกช่างกันหน่อย เพราะการปรับตั้งจะต้องใช้ความชำนาญ ไม่ใช่สักแต่ใส่ๆ ไปในรถ ปรับผิดชีวิตบรรลัย จำไว้แค่นี้แหละ
ก็จะยาวๆ หน่อยนะครับ เกี่ยวกับโช้คซิ่ง ที่ควรจะเรียนรู้ก่อนจะซื้อมาใช้เพราะมันหมายถึง “ชีวิต” และ “ทรัพย์สิน” เกิดอันตรายได้ถ้าใส่ไม่ถูกต้อง หรือ ได้สมรรถนะจากมันไม่เต็มที่ อาจจะห่วยกว่าโช้คเดิมด้วยซ้ำหากใส่แล้วเซ็ตไม่เป็น หรือ ไปเลือกโช้คที่ไม่เหมาะสมมาใส่ผิดสเป็กการใช้งาน พวกนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนครับ ยังไงก็เอาความรู้ตรงนี้ไปใช้ในการเลือกซื้อ รวมถึงการเลือกช่างที่จะใส่ให้เราด้วยนะครับ ด้วยความปรารถนาดี…