กลับมาพบกันอีกครั้งกับ “ปีใหม่ 2017” หลังจากที่คนเขียนได้ “หูตูบ” เคลียร์ (หรือเขี่ย) งานก่อนสิ้นปี (จริงๆ แล้วดินพอกหางหมามานาน) ก็เลยหายจากเว็บ Auto Variety ไป ยังไม่ตาย !!! ก็ต้องกลับมาเขียนเรื่องราวสายซิ่งเพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลแบบเอาฮา แต่ต้องมีสาระ เพื่อที่ผู้อ่านทุกท่านจะสามารถ “รู้ไว้ใช่ว่า” เพราะบางทีก็อาจจะเจอเรื่องราวที่เป็นการหลอกลวงต่างๆ เราจะต้องมีข้อมูลที่ป้องกันตัวเราเองให้ได้มากที่สุด จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโดยง่ายเกินไปนัก เรียกว่า “มีกระดูกติดคอไว้บ้าง” อย่าโดน “กลืนลื่น” จนเกินไปนั่นแหละ
ยังไงก็ต้องมีพวก
การเล่นรถซิ่ง ก็ย่อมมีการซื้อขายของเป็นปกติ คุณควรจะต้องมี “ที่ปรึกษา” ที่ไว้ใจกันได้เยอะหน่อยแบบ “หลายทาง” อย่างบางคนเก่งเรื่องล้อ บางคนเก่งเรื่องเทอร์โบ บางคนแม่งเซียน HONDA ฯลฯ พยายามหาข้อมูลและพูดคุยหาพวกที่มีความรู้จริงไว้เยอะๆ เพราะจะได้ปรึกษากัน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับมือใหม่ หรือ คนที่ไม่รู้ (มือเก่าไม่รู้ทุกเรื่องนะ ขอบอก) ถ้าคนที่เขาจริงใจ ก็จะยินดีแนะนำสิ่งดีๆ ให้ ยังมีคนดีอยู่ในสังคมรถซิ่งเยอะครับ แต่ต้องหากันหน่อย ต้องใช้เวลาสกรีนกัน ไม่ชัวร์อะไรก็หาข้อมูล สอบถาม คนเล่นรถรักรถจริงๆ ส่วนมากจะยินดีให้ข้อมูลอยู่แล้วครับ (ถ้าคุณไม่ไปกวนตีนกับเขาก่อน แกล้งโง่ไว้ก่อนน่ะดีแล้ว)
ซื้อ–ขาย ของซิ่ง “ตรงปกมั้ย ดูให้ดี”
ด้วยการที่บัดนาวนี้ การซื้อขายกันทาง “ออนไลน์” นั้นนิยมกันมากๆ สมัยก่อนก็ต้องนัดดูของกันจริงๆ ในยุค Racing Web เปิดเจออะไรถูกใจก็นัดกันไปดู มันก็เหมือนเป็นธรรมเนียมที่ต้องทำ มีส่วนน้อยที่ซื้อของโดยไม่ดูตัวจริง เว้นแต่จะไว้ใจกันจริงๆ ก็ได้ ซึ่งระบบเว็บไซต์ จะยุ่งยากในการลงทะเบียนสมัครสมาชิก ก็ต้องมีการ “ติดดาว” หรือ “เรตติ้ง” ถ้าเจ้าไหนได้รับความนิยม ก็จะติดดาวหรือยอด “บวก” เยอะหน่อย แสดงว่าเครดิตดี อันนี้ก็แล้วแต่ “ศรัทธา” กับ “ระยะทาง” แต่ตอนนี้ ออนไลน์ พัฒนามาก มีการอัพเดตได้ตลอดเวลาทุกวินาที ใครๆ ก็เป็นพ่อค้าแม่ขายได้โคตรง่ายเพียงปลายนิ้ว แถมยังมีโอนเงินออนไลน์ได้อีก เป็นเรื่องดี แต่ก็มี “ความเสี่ยง” ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะ “ซื้อง่าย” เกินไป ยังไม่เห็นของก็สั่งซะแล้ว เพราะตอนนี้อะไรๆ ก็จะเอาเร็วๆๆๆๆ กลัวคนมาแย่ง อยากได้แต่หากไม่ “ยับยั้งชั่งใจ” ให้ดีก่อน ใจเร็วด่วนได้ก็บรรลัยอย่างเดียว เป็นเรื่องกันมาเยอะแล้ว
ไอ้เรื่องนี้ก็มากับเรื่องรถซิ่ง มันก็หลักการขายของออนไลน์นั่นเอง ในยุคก่อน จะเป็น “ของมือสองญี่ปุ่น” นิยมมาก ส่วนสภาพก็ต้องไปดูตัวจริงเอา แต่ตอนนี้ “ของเหมื๊อนนนนเหมือน” ศัพท์ก็เรียก งานมิลเลอร์ งานแท้ ซึ่งรู้กันดีในหมู่นักซิ่งที่พอมีประสบการณ์ แต่นักซิ่งมือใหม่ล่ะ ทำไงดี ถึงจะไม่โดนเฉือน
ขั้นแรก “เช็คข้อมูลให้แน่นอนก่อน” ยกตัวอย่าง เช่น เราจะซื้อล้อแท้มือสองรุ่นอะไรก็ตาม ควรจะศึกษาให้ดีครับว่า “ของแท้เป็นยังไง” หรือ “ของเหมื๊อนนเหมือนเป็นยังไง” คุณต้องแยกให้ออกก่อน คนขายก็มักจะโพสต์แบบนี้ เช่น ล้อ CE28 งาน… อะไรก็ว่าไป เป็นอันรู้กันว่า “ไม่แท้” เพราะล้อปลอมพวกนี้ มันมีโรงงานผลิตหลายเจ้าครับ ซึ่งคุณภาพก็ต่างกันไป ถ้าจะซื้อล้อปลอมก็ไม่ผิด แต่ “ศึกษาและเลือกเจ้าทีผลิตดีๆ หน่อย” ก็แล้วกัน แต่ถ้าเจอคนขายแนวๆ “รู้มาก” ก็จะโพสต์แนวๆ ไขว้เขว เช่น “งานแท้” หรือ “เหมือนแท้” อะไรพวกนี้ ก็ให้รู้ได้เลยว่ามึงไม่แท้แน่ๆ ส่วนอีกอย่าง ถ้าจะซื้อของใหม่แท้ๆ ถ้าไม่ซื้อตัวแทนจำหน่ายโดยตรง ก็จะมี “สายหิ้ว” เอาเข้ามาขายกันเอง อันนี้ต้องเช็คให้แน่ๆ ว่าไว้ใจได้จริงมั้ย ของแท้จริงมั้ย ตรงรุ่นรถที่คุณต้องการจริงมั้ย
ต่อมาคือเรื่อง “สภาพของ” อันนี้แหละดราม่ากันหนักมาก ไอ้เรื่องจริงปลอมมันยังพอจะชัดเจน แต่เรื่องของสภาพ รวมถึง “ตรงรุ่น” อันนี้ “ว่ายาก” เป็นที่มาของหัวข้อ “ตรงปกหรือเปล่า” นั่นแหละครับ อย่าลืมนะ ว่าตอนนี้รูปจากโทรศัพท์มันมี APP แต่งกันได้ หรือ มีการถ่ายเลี่ยงมุมตำหนิที่ไม่สวยได้ หรือบางคนก็ชอบถ่ายรูปในที่มีแสงน้อย จำไว้ว่า รูปที่คนขายโพสต์ “ควรจะต้องชัดเจนที่สุดทุกมุม” คนขายที่จริงใจ จะบอก “ตำหนิ” ไว้อย่างชัดเจน แต่ถ้าดูรูปเหมือนแต่งมา หรือถ่ายรูปแบบหลบๆ มุมอะไรสักอย่าง มาแบบ “คลุมเครือ” พูดจาก็คลุมเครืออีก ก็ควรจะระวังไว้ก่อน เลี่ยงได้ก็เลี่ยง แต่ถ้าอยากได้ของอันนั้นจริงๆ ก็ “จงไปดูของจริงด้วยตาตัวเองซะ” คุณไม่สามารถตัดสินได้จากรูป 100 % แน่ๆ ต่อให้เซียนยังมีเสียทรง ไปดูของจริงซะ เป็นดีที่สุด
ในกรณีที่ไม่มีเวลาไปดู อาจจะอยู่คนละจังหวัดไกลๆ กัน การจะถ่อไปดูนั้นคงจะยากและไม่ Make Sense อันนี้ก็ต้อง “เสี่ยง” เอา เพราะเราไม่เห็นของจริงก่อนซื้อแน่ๆ ก็อย่างที่บอก พยายามดูเจ้าที่ “มีความชัดเจน” หน่อย ขอดูรูปหลายๆ มุม ถามเลยครับ มีตำหนิอะไรตรงไหน สภาพจริงเป็นอย่างไร คนขายที่แฟร์ๆ ก็จะกล้ารับประกันสภาพ หรือ รับประกันว่าของนั้น “ตรงสเป็ก” ที่โพสต์ขายจริง ไม่ดีจริงคืนตังค์ (แต่ของต้องคืนมาในสภาพเดิม) อันนี้ก็ต้องใช้ “วิจารณญาณ” กันเอง อย่างน้อยตอนนี้ก็สามารถ “ขอเครดิต” บนหน้าเพจได้ ก็จะมีคนมาบอก คนนี้โอเค เชื่อได้ หรือ ไอ้นี่อย่าไปเชื่อมัน ใครทำมั่วๆ ไว้ก็จะโดนสังคมลงโทษ ยังไงก็ลองเช็คโพสต์ของคนขายดูก่อน ถ้าดูแล้วเป็นมืออาชีพ มีที่อยู่ มีเฟส มีอะไรที่ติดต่อได้ชัดเจนเป็นหลักฐาน ตอนนี้ต้องระวังเพราะใครก็ขายของได้ บางคนแม่งสมัครเฟสอวตาร ไม่มีอะไรที่น่าเชื่อถือเป็นหลักแหล่ง จู่ๆ มาโพสต์ขายลอยๆ ก็ต้องพิจารณากันหนักหน่อย สรุป ถ้าดูแล้วไม่น่าไว้ใจก็ผ่านไปหาเจ้าอื่นที่ดูน่าเชื่อถือดีกว่า คุณต้องตัดสินใจเอง
ในกรณีที่ไม่มีเวลาไปดู อาจจะอยู่คนละจังหวัดไกลๆ กัน การจะถ่อไปดูนั้นคงจะยากและไม่ Make Sense อันนี้ก็ต้อง “เสี่ยง” เอา เพราะเราไม่เห็นของจริงก่อนซื้อแน่ๆ ก็อย่างที่บอก พยายามดูเจ้าที่ “มีความชัดเจน” หน่อย ขอดูรูปหลายๆ มุม ถามเลยครับ มีตำหนิอะไรตรงไหน สภาพจริงเป็นอย่างไร คนขายที่แฟร์ๆ ก็จะกล้ารับประกันสภาพ หรือ รับประกันว่าของนั้น “ตรงสเป็ก” ที่โพสต์ขายจริง ไม่ดีจริงคืนตังค์ (แต่ของต้องคืนมาในสภาพเดิม) อันนี้ก็ต้องใช้ “วิจารณญาณ” กันเอง อย่างน้อยตอนนี้ก็สามารถ “ขอเครดิต” บนหน้าเพจได้ ก็จะมีคนมาบอก คนนี้โอเค เชื่อได้ หรือ ไอ้นี่อย่าไปเชื่อมัน ใครทำมั่วๆ ไว้ก็จะโดนสังคมลงโทษ ยังไงก็ลองเช็คโพสต์ของคนขายดูก่อน ถ้าดูแล้วเป็นมืออาชีพ มีที่อยู่ มีเฟส มีอะไรที่ติดต่อได้ชัดเจนเป็นหลักฐาน ตอนนี้ต้องระวังเพราะใครก็ขายของได้ บางคนแม่งสมัครเฟสอวตาร ไม่มีอะไรที่น่าเชื่อถือเป็นหลักแหล่ง จู่ๆ มาโพสต์ขายลอยๆ ก็ต้องพิจารณากันหนักหน่อย สรุป ถ้าดูแล้วไม่น่าไว้ใจก็ผ่านไปหาเจ้าอื่นที่ดูน่าเชื่อถือดีกว่า คุณต้องตัดสินใจเอง
ทำรถต้องระวังอะไรบ้าง
เวลาจะทำรถ โดยมากก็จะไป “อู่ซิ่ง” เพราะถ้างานใหญ่เราก็ไม่สามารถทำเองได้ อันนี้บอกก่อนเลย ว่าก่อนจะไปทำอู่ไหน ให้ “เลือกและหาข้อมูลให้ดีก่อน” เกิดซวยไปเจอ “สายหมก” แล้วมันจะยุ่ง เพราะอย่างของซิ่งด้านนอกเรายังพอเห็นสภาพได้ ว่า “ตรงที่สั่งมั้ย” สั่งของแท้ แต่เอาของเหมื๊อนเหมือนมาใส่ให้มันก็ไม่ถูกต้อง แต่เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่เป็นของแนวๆ เหมื๊อนเหมือนกันหมด ซึ่งเป็นของใหม่ในราคาถูกกว่าของแท้หลายเท่า เลยไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร แต่ถ้าเป็นของภายในเครื่อง เช่น ลูกสูบ ก้านสูบ จะดูยังไงล่ะ ก็ต้องหมั่นไปดูหน่อย หรือขอดูรูปเวลาใส่ของไปในเครื่องของเรา เน้นว่า “เครื่องของเรา” นะครับ หลายคนโดนโมเมถ่ายรูปเครื่องคันอื่นมาอ้าง ซึ่งเครื่องเปลือยๆ เป็นชิ้นๆ ถ้าเป็นรุ่นเดียวกันมันก็คงดูได้ยากหน่อย บางอู่ที่มีความชัดเจนก็จะนิยมโพสต์เฟสบุค หรือ ส่งไลน์ให้ดูเลยว่าทำอะไรไปบ้าง ของที่เราสั่งใส่ไปจริงไหม เว้นแต่เขามีสูตรโมฯ เฉพาะทาง ก็อาจจะไม่ให้ดูในขั้นตอนนั้น ก็ต้องเข้าใจครับว่ามันเปิดเผยไม่ได้จริงๆ เป็นสูตรที่เขาลองกันไม่ได้มาง่ายๆ ก็ใจเขาใจเรานะ เอาแต่ใจมากไปก็ไม่มีใครอยากทำให้
แต่สิ่งสุดท้ายก็คือ “การส่งงาน” โดยมากตอนนี้ก็จะชัดเจนมากขึ้น มีการขึ้น “ไดโน” วัดแรงม้ากันเห็นๆ แต่ก็ต้องดูว่า “แท่นไหน” เพราะแต่ละที่ก็ย่อมมีความแตกต่าง ซึ่งตอนนี้ก็ต้อง Live โชว์ ตอนปั่นม้ากันสดๆ ซึ่งเจ้าของรถก็มักจะไปดูเอง หรือดู Live ก็เกิดอารมณ์อยาก “ขยี้” พวกแรงม้าควรจะต้อง “ดวล” กันสดๆ ประเภท “ม้าในตำนาน” ขึ้นไดโนไว้สามชาติกว่าแล้วยังงั้นไม่เอา และเดี๋ยวนี้ก็ชอบไปลองเวลากันที่สนาม Drag มีการรับประกันเวลาด้วยนะ ก็ตกลงกันก่อนว่าใครจะขับส่งเวลาให้ ถ้ามันแรงสมกับที่ทำที่จ่ายไปก็ถือว่าจบ แต่ถ้าปัญหาเกิด “เฮ้ย !!! ไม่เหมือนที่คุยกันไว้” ก็ต้องแก้กันต่อไป ถ้าซวยไปเจออู่ที่ปัดความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำไม่จบ หรือ “หมกเอาไว้” ส่วนมากก็หักกันแล้วก็ไปหาอู่ใหม่ หรือไม่ก็รำคาญขายรถทิ้งแม่งเลย อันนี้เป็นเรื่องที่เจอกันปกติครับ ดราม่ากันกระจายบนเฟสบุ๊ค จนต้องมีเพจเฉพาะทาง ต้องระวังกันให้ดีครับ อย่าใจร้อนๆๆๆๆๆ ท่องไว้ มีเงินซื้อแต่จ่ายไปแล้วได้รถห่วยมาก็ใช่เรื่องนะ…
เหลามาซะยืดยาว ก็อย่ากังวลมากไปเรื่องอู่ เพราะเดี๋ยวนี้ข่าวมันไวมากยิ่งกว่าเชื้อโรค อู่ดีๆ งานจบ คนก็จะแห่เข้ามาทำเองโดยไม่ต้อง “น้ำลาย” ลูกค้าจะเป็นผู้โฆษณาเอง รวมถึงผลงานต่างๆ ถ้าเป็นที่ยอมรับจริงก็ต้องเห็น ส่วนไอ้ที่ทำระยำๆ ไว้ ก็จะถูกสังคมประนามแล้วก็เจ๊งไปในที่สุด แต่ก็ต้องดูอีก ว่าเหตุผลที่มาที่ไปเป็นยังไง เพราะบางทีลูกค้าเองก็เล่นแสบเหมือนกัน การตัดสินอะไรควรมี “วิจารณญาณ” มากๆ นะจ๊ะ
ซื้อรถซิ่ง อย่าใจร้อน ดูให้ละเอียดสุดๆ
การซื้อรถซิ่ง ต้องเข้าใจว่า รถซิ่ง ก็คือ “รถที่ถูกแต่งและโมดิฟายมาแล้ว” ไม่เดิมแน่ๆ เพราะฉะนั้น การดูจะยิ่งต้องละเอียดมากๆ ไม่ใช่เห็นแค่ของที่อยากได้เท่านั้น อีกอย่างก็คือ รถซิ่งก็คือรถซิ่ง คนแต่งมาก็ต้องเอาไปขยี้ ขยี้แล้วยังไง รักษาดีหรือเปล่า หรือสักแต่ขยี้อย่างเดียว ไม่ซ่อมบำรุง หรือบำรุงรักษาไม่เป็น พอใกล้จะพังแล้วก็ทำกลบๆ ขายไป คนซื้อต่อก็ซวยรับกรรมไป จริงๆ มันก็บอกยากนะ เพราะอุปกรณ์ภายในเรามองไม่เห็น อาจจะดูได้ว่ามี “ควันขาว” ออกตอนเร่งมั้ย บางคนจะขายรถก็เอาพวก “หัวเชื้อ” อะไรก็ไม่รู้ๆๆๆๆๆๆ ใส่เข้าไปให้มันหนืดๆ ควันไม่มี แต่ได้แค่ระยะสั้นๆ ตอนซื้อก็ต้องดูให้ดี ต้องไม่มีร่องรอยพวกคราบน้ำมันต่างๆ ไอ้เรื่องรอยการถอดรื้อเครื่องมันมีกันได้ เพราะต้องโมดิฟายกันอยู่แล้วหากเป็นสเต็ปโหดๆ แต่ให้ดู “ความเรียบร้อย” ในการเก็บงาน ถ้าทำมาดีก็ไม่มีปัญหา หากทำจากอู่ที่มีเครดิตดีๆ ก็จะค่อนข้างวางใจได้ แต่ถ้าเหมือนทำมาหมกๆ ชุ่ยๆ ไม่มีความเรียบร้อย ใครจะซื้อก็ตามสบาย ส่วนรถมีร่องรอย “ช้ำ” มามั้ย รถซิ่งโหลดเตี้ย ถ้าใต้ท้องเยินๆ หรือ มีรอยตัด เคาะ เชื่อม ที่แนวพื้นด้านล่างมา ก็อาจจะกระแทกหลุม บ่อ โคก มาแรงๆ หรือถึงขั้น “ข้ามเกาะ” มาก็ได้ถ้าเจอรอยแบบ “สาหัส” ไม่ต้องบอกนะว่าจะทำยังไง การดูรถก็ควรจะต้องมีความรู้กันบ้าง หรือไม่ก็หาคนรู้จริงไปช่วยดูจะช่วยให้ “ความเสี่ยงลดลง” นะครับ
อีกเรื่องที่เป็นเรื่อง ก็คือ “สับของ” ไม่ตรงปก เฮ้ย !!! ไม่เหมือนที่คุยกันไว้ ตอนโพสต์ขายก็ดีแม่งหมดทุกอย่าง ไอ้นี่ก็เทพ ไอ้นั่นก็แท้ ไอ้นั่นเบิกใหม่จากขั้วโลกเหนือ มีสารพัดจะมี แต่ตอนจะขายจริงๆ พวก “สับขาหลอก” ของเทพในรูป ก็อาจจะกลายเป็นของถ่อย อาจจะของแท้เหมือนกัน แต่สับของสภาพแย่กว่า หรือของที่ไม่ตรงตามสเป็กที่ตกลงกันไว้มาให้ หรือเจอของปลอมงานมิลเลอร์เทพเข้าให้ ของยุ่นเอาออก เอาของประเทศไหนใส่ก็ไม่รู้ ไม่ได้รังเกียจของที่ผลิตในประเทศอื่นๆ นะครับ แต่ถ้าตกลงกันไว้ยังไง ก็ขอให้เป็นยังงั้น ของปลอมบางอย่างก็โคตรจะมิลเลอร์จริงๆ (ใครบัญญัติไอ้คำนี้ขึ้นมาวะเนี่ย) ถ้าดูไม่เป็นก็แยกไม่ออกแน่ๆ ยิ่งตอนนี้ยิ่งทำเหมือน ขนาดคนดูพอเป็นก็ยังลังเล แต่ยังไงก็ไม่มีทางเหมือนเป๊ะหรอกครับ ต้องสังเกตกันมากๆ ว่าของที่ใส่มาตอนขายรถให้เรานั่นมัน “ตามที่คุยกันไว้ตั้งแต่แรก” หรือเปล่า
ที่ต้องระวังมากๆ ก็พวกรถเก๋งยี่ห้อยอดนิยมทั้งหลาย ที่จะมีของแต่งจากญี่ปุ่นแท้ๆ กับของแต่งงานเหมื๊อนเหมือน ก๊อปกันออกมากันแทบจะทุกรายการ ถ้าคนไม่มีประสบการณ์โอกาสที่จะโดนเชือดนั้นมีมาก หากไปเจอคนขายไร้จรรยาบรรณ ต้องเช็คให้ดีและให้ครบตามที่ตกลงกันไว้ รวมถึงสภาพอื่นๆ โดยรวมทั้งหมดด้วย แต่ถ้าเป็นสาย “กระบะซิ่ง” จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องของปลอม เพราะส่วนใหญ่แล้ว รถกระบะ หรือ รถอเนกประสงค์ต่างๆ ที่มีพื้นฐานจากแชสซีส์กระบะ พวกนี้จะไม่มีของแต่งจากญี่ปุ่น แต่จะเป็นของแต่งสไตล์ “ไทยๆ” ทั้งสิ้น ก็เลยตัดปัญหาไปได้ ของไทยคุณภาพเยี่ยมก็มีเยอะครับ ซึ่งก็ต้องดูอีกเพราะ “ก๊อบงานไทย” คุณภาพต่ำลงก็ยังมีอีก โลกนี้มันอยู่ยาก !!! แต่อย่างพวกเกจ์ พวงมาลัย เบาะ ก็มีทั้งของนอกแท้ กับ งานเหมือน พวกนี้ดูไม่ยากเท่าไรครับ แต่ก็อย่าประมาทเพราะมันก็เป็นเรื่องได้เหมือนกัน
ก็จบกันเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ สำหรับ “กลโกงรถซิ่ง” ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่เราจะรับรู้ ป้องกัน และ ระวัง กันได้ เพียงแต่คนที่จะเล่นรถซิ่ง จะต้องศึกษาข้อมูลให้ชัวร์ก่อนเพื่อให้รู้เท่ากันกลลวง และไม่โดนหลอกง่ายนัก รวมถึงต้องใจเย็นๆ อย่ารีบด่วนได้โดยไม่ดู “สระอี สระแอ” ซื้ออะไรใจร้อนก็ต้องมานั่งหัวร้อนกันทีหลัง ถ้าใจเย็นๆ ดูให้ละเอียด ก็จะได้ของดีครับ เชื่อเหอะ!!!
หมายเหตุ : รูปสำหรับประกอบบทความเฉยๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ
By:เค ไชยรัตน์ ไพศาลธนจิตร