ในการใช้รถทั่วๆ ไปนั้น อาจจะไม่มีอะไรมากกว่าการ “ขับอย่างมีสติ” ที่ช่วยลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น แต่ในการใช้รถจริงๆ แล้ว มันมีวิธีและขั้นตอนในการ “ใช้อย่างถูกต้อง” และ “เข้าใจรถ” เพื่อที่จะให้รถอยู่กับเราได้นาน ช่วยยืดอายุการใช้งานออกไปได้อีก รวมถึง ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง แต่ถ้าใช้งาน “เยี่ยงทาส” แถมยังไม่ดูแล ปล่อยตามยถากรรม เรียกว่าแค่ “เติมน้ำมันขับ” ก็มีเยอะ หรือไม่ก็ “ใช้ๆ แม่มไปเหอะ รถใหม่มันไม่เป็นไรหรอก กลัวใช้ไม่คุ้ม เลยไม่อยากจะเสียค่าดูแลรักษา ซึ่งนี่แหละจะเป็นต้นเหตุของความบรรลัย มีไม่น้อยที่ “พังคา Teen” และเสียค่าซ่อมบานเบอะ ก็ไม่รู้ว่าจะเห็นใจดีไหม ครั้งนี้ เรามาดูเรื่อง “ความเข้าใจผิดๆ ในการใช้รถ” ที่เป็นเรื่องเบาๆ แต่เต็มไปด้วยสาระ พร้อมความเพลิดเพลินที่อ่านได้ทุกเพศทุกวัยครับ
รถใหม่ ถนอมจัง กลัวเจ็บ
อันว่าชีวิตนี้ นั่งทำงานหาเงินหลังขดหลังแข็ง เพื่อที่จะหารถใหม่ป้ายแดงมาใช้งาน หลายคนก็จำเป็น เพราะไม่อยากเสี่ยงกับรถ Used ที่ไม่รู้ประวัติ ถ้าคนไม่เป็นจริงๆ ก็มีความเสี่ยง เลยออกรถใหม่แล้วยอมเป็นหนี้หน่อยสบายใจกว่า ก็เป็นตามปกติครับ หลังจากที่รับรถมาแล้ว ทุกคนก็ย่อมที่จะ “ระแวดระวัง” กลัวนั่นกลัวนี่ กลายเป็นขับยึกๆ ยักๆ จาก “ระวัง” เข้าขั้น “ระแวง” ไปทั้งหมด ใจครับ ว่ารถใหม่ป้ายแดง เจ้าของก็ย่อมหวงกว่าปกติแน่นอน อะไรเข้าใกล้หน่อยก็หวาดหวั่น จอดรถหมาฉี่ใส่ล้อก็แทบจะช้อนให้กระเด็น นกขี้ใส่ก็แทบจะสอยให้ร่วง อันนี้เข้าขั้น “วิตกจริต” เลยครับ ทำให้คุณขับรถอย่างไม่มีความสุข ยิ่งระแวง ก็ยิ่งขับรถไม่เป็นปกติ จากรถคันเดิมที่ขับได้ปกติ พอจับรถใหม่เท่านั้นแหละ “เกร็ง” ไปหมด จังหวะการขับรถก็จะไม่ปกติเช่นกัน เดี๋ยวเบรกๆ จะออกก็ไม่กล้า ทั้งๆ ที่จังหวะมันได้เหมือนเดิม แต่คนขับ “ไม่เหมือนเดิม” ทำให้เกิดอันตรายและอุบัติเหตุได้ง่ายโดยที่คนขับไม่รู้ตัว เอาเป็นว่า “ขับให้เป็นปกติ” จะระวังมากหน่อยก็ไม่ผิดเพราะเป็นปกติมนุษย์ “เบอร์ห้า” เข้าใจว่าของใหม่ราคาแพง การขับก็ปกติคนทั่วไปแค่นั้นแหละครับ รถมันไม่ได้พังง่ายขนาดนั้น ไม่ต้องระแวง “กลัวรถเจ็บ” เกินเหตุครับ
รถใหม่ ซัดให้คุ้ม
ตรงกันข้าม อีกประเภทก็ “ซิ่งจัด” มีรถใหม่แล้วต้องขยี้ให้มันเร็วปานจรวดไว้ “ห้าวเป้ง” เห่อของใหม่ บ้าพลัง รถยุคใหม่มันพัฒนาไปไกล เครื่องก็วิ่งโคตรดี ช่วงล่างก็พัฒนามากขึ้น ขับเร็วก็ไม่ค่อยจะรู้สึกว่ามันเสียวๆ เหมือนรุ่นเก่า รถมันจะนิ่ง เงียบ นุ่มนวล ก็สมกับความใหม่ของมัน อะไรๆ ก็ดีไปหมด คนขับก็ล่อเต็มสมรรถนะเลย อย่าลืมนะครับ “ขับไม่ยั้ง รถอะไรก็พัง” ตอนนี้รถมันยังใหม่ อะไรก็ยัง “ฟิต” เลยไม่ค่อยออกอาการ แต่ถ้าใช้ไม่รักษา อีกหน่อยมันก็จะ “หลวม” ก่อนวัยอันควร บางคนคิดว่า ก็รถมี Warranty ก็ล่อเต็มที่ไม่บันยะบันยังเลย มีอะไรพังก็ไปเคลมกับบริษัทเอา จริงๆ ไม่ใช่นะครับ คุณไม่สามารถเคลมได้ทุกอย่างนะครับ บริษัทมีเงื่อนไขในการเคลม ถ้าพบว่าคุณใช้รถแบบ “ไม่ปกติ” หรือ “ผิดเงื่อนไขรับประกัน” ก็อดได้นะครับ
หรือไม่ก็คิดว่า “รถใหม่ต้องดูแลอะไรกันวะ” พวกก็ใช้อย่างเดียวเลย ถึงเวลาเช็คก็ขับเข้าศูนย์ นอกจากนั้น “ฝากระโปรงไม่เคยเปิด” มันก็จริงครับ ถ้ารถปกติมันก็ไม่เป็นอะไรหรอก แต่อย่า “ย่ามใจ” เพราะรถใหม่ต่อให้กันละหลายล้านมันก็มี “ข้อผิดพลาด” จากการผลิตได้ อย่างที่เราเห็นข่าวประท้วงกันเอิกเกริกนั่นแหละ ประเภทซื้อมาไม่ทันข้ามสัปดาห์ รวนแม่มทั้งป้ายแดงดื้อๆ งั้นแหละ บางคนที่หมั่นสังเกตหน่อย ก็จะเห็นความผิดปกติได้ “ก่อน” คือ “ก่อนที่มันจะลุกลามไปใหญ่โต” เว้นแต่ว่ามันรวนจากการผิดพลาดของระบบของตัวรถเอง ที่คนซื้อไม่เกี่ยวข้อง อันนั้นก็ว่าไปตามกระบวนการครับ
รถเก่า อย่าทิ้ง ยิ่งต้องดูแล
หลายคนก็ยังติดใจรสชาติรถเก่า คงไม่ได้เก่าแบบ เรโทร หรือ คลาสสิก อะไรนะ อย่างรถประมาณยุค 90-2000 พวกนี้ยังมีการใช้งานกันอยู่เยอะมาก เพราะระบบต่างๆ ไม่ซับซ้อนเหมือนรถใหม่ มันยังง่ายๆ ช่างทั่วไปก็ “ซ่อมด้ายยยยย” อะไหล่ก็ไม่แพงจัด (พูดถึงรถญี่ปุ่นขนาดเล็กทั่วไปอ่ะนะ) ที่สำคัญรถพวกนี้ “ทน” เพราะเป็นยุคที่ยัง “ไม่เน้นลดต้นทุน” มากเท่าไร ระบบพื้นๆ แต่บางอย่างก็ดีกว่ารุ่นใหม่ที่เน้นต้นทุนถูกนะ ก็เลยเป็น “เสน่ห์” ที่คนยังใช้ทน (หรือ ทนใช้) เพราะอยู่กันมาตั้งนาน จู่ๆ จะขายทิ้งก็ไม่รู้ว่า “เงินขายหรือเงินทอน” เพราะรถยุค 90 แบบตลาดๆ ราคาถูกลงมากๆ คุยกัน “หลักหมื่น” ตกใจเลย ACCORD ตาเพชร รถยอดนิยมในอดีต สวย แต่งขึ้น ตอนนี้คุยกันราคา 5 หมื่น สวยๆ หน่อยก็ 6 หมื่น ++ แล้วแต่สภาพและออพชั่นของคันนั้นๆ ถ้าแห้งๆ หน่อย ก็ 4 หมื่น แม่เจ้า !!! มรึงถูกกว่า “มอไซค์ออโต้” จ่ายตลาดอีกหรือนี่ !!!!???? หลายคนก็หารถพวกนี้แหละมา “ปั้น” ยอมทุ่มเงินหน่อย แต่ได้รถระดับ ACCORD หรือ CAMRY (บอดี้แรก) ขับ ทำดีๆ ก็น่าใช้ ในราคาที่สบายกระเป๋า
รถเก่าก็คือรถเก่า บางคนก็คิดว่า “เก่าแล้วช่างแมร่ง ขับถูลู่ถูกังไปเหอะ ไม่ต้องถนอมมันหรอก” รถพวกนี้เอาจริงๆ มันทนนะครับ บางคนก็หน้าทนขับจนพังคา “ทีน” ไปเลย ทำเพื่ออะไรครับ ใช้งานได้คุ้มค่าน่ะถูก แต่ไม่ใช่ “ถลุง” เก่าแล้วก็จริงแต่คุณก็ต้องถนอมมันหน่อย จะได้อยู่รับใช้คุณได้นานๆ รถเก่าเขาก็มีหัวใจนะ รักษาเขาดีๆ มีเงินก็ปรับปรุงให้พร้อมใช้ รักษาให้มันดูสะอาดและสวยงาม รถพวกนี้แม้จะเก่าแล้วแต่ก็มีเสน่ห์นะครับ เผลอๆ จะสวยกว่ารถรุ่นใหม่อีกหลายๆ รุ่นอีกนะ จะบอกให้
เปลี่ยนเกียร์รอบต่ำๆ ไว้ จะได้ประหยัดน้ำมัน
อันนี้จะเป็นพวก “เกียร์ธรรมดา” ที่บางคนเปลี่ยนเกียร์ที่ “รอบต่ำเกินไป” ออกรถไปนิดเดียว เปลี่ยนเกียร์ 2 เขยิบไปอีกนิ๊ดดดดดดดดดดดด เปลี่ยนเกียร์ 3-4-5 ซะแล้ว บางคนใช้เกียร์ 5 ความเร็วรถยังอยู่แถวๆ 40-45 km/h อยู่เลย ทำเพราะเชื่อว่า “ประหยัดน้ำมัน” แต่จริงๆ แล้ว “เปลืองยิ่งกว่า” เพราะถ้าใช้รอบต่ำเกินไป เครื่องยนต์จะไม่มีแรงบิดพอที่จะขับเคลื่อนรถ อาการรถจะออกเลย คือ “สั่นกระพือ” และ “อืด” คุณก็ต้องย่ำคันเร่งเพิ่มไปอีก แล้วจะเอาอะไรมาประหยัด เพราะน้ำมันจ่ายตามคันเร่ง ยิ่งรอบต่ำ ยิ่งย่ำคันเร่ง น้ำมันยิ่งจ่ายหนาเพราะรักษาไม่ให้เครื่องดับ แถมไม่มีแรงอีกด้วย บางคนก็…ง่าย เล่น “เลี้ยงคลัตช์” เอาซะเลย ทำไปทำไม่ก็ไม่รู้นะ คลัตช์ก็พังเร็วอีก คุ้มมั้ยล่ะ ???
การเปลี่ยนเกียร์ที่เหมาะสม คนขับจะต้องสังเกตอาการว่า รถตัวเองเป็นยังไง ไม่มีบรรทัดฐานตายตัว เพราะรถแต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน ก่อนอื่น ให้ยืนตาม “คู่มือติดรถ” ของเขามีมาให้ก็ “หัดอ่านซะบ้าง” ไม่อ่านแล้วพอใช้ไม่ถูกหลัก มีปัญหาก็ดราม่าไว้ก่อน ในคู่มือจะมีบอกถึง “ความเร็วที่เหมาะสมในการเปลี่ยนเกียร์” ก็ยืนยันตามนั้นก่อน มันจะเป็น “ช่วงความเร็ว” ไม่จำเป็นต้องเป๊ะๆ แต่ให้อยู่ประมาณนั้นแล้วกัน ใช้ “ความรู้สึก” ไม่ใช่มองแต่มาตรวัดเดี๋ยวจะสอยตรูดคันหน้าไม่รู้ตัว เอาเป็นว่า ถ้าคุณเปลี่ยนเกียร์ได้เหมาะสมตามจังหวะ รถจะไปได้แบบ “เบาคันเร่ง” และ “ต่อเนื่อง” รวมถึงความ “นุ่มนวล” และ “ประหยัดน้ำมัน” มันมาด้วยกันหมดครับ ลองฝึกกันดู
ปล่อยไหล “เกียร์ว่าง” ประหยัดน้ำมันดี
เจอบ่อย วิ่งๆ มา เห็นข้างหน้าเบรก พวก “ปล่อยไหล” ปลดเกียร์ว่าง พวกเกียร์ออโต้ก็มีนะ ดันมาที่ N แล้วปล่อยไหลเช่นกัน โดยมีความคิดที่ว่า “ช่วยประหยัดน้ำมันมากขึ้น” ผมพูดสั้นๆ ละกัน การที่คุณทำแบบนี้ “ได้ไม่คุ้มเสีย” ประการแรกเมื่อปลดเกียร์ว่าง หรือ เหยียบคลัตช์ มันจะ “ตัดกำลังจากเครื่องยนต์” ตัวเครื่องยนต์เวลาถอนคันเร่งจะมี “เอนจิ้นเบรก” หรือ การเบรกด้วยแรงฝืดของเครื่อง จะช่วยให้ระยะเบรกสั้นลง คุมรถได้ง่ายขึ้น เกียร์ธรรมดาจะเห็นผลชัดมาก ถ้าปลดเกียร์ว่างปล่อยไหล “ระยะเบรกจะมากขึ้น” ก็คิดเอาเองครับว่าถ้ามาเร็วๆ มันจะเพิ่มไปเท่าไร แล้ว “คุ้มไหมที่จะแลก” ไม่พอนะ บางคน “ปล่อยไหลลงสะพานสูง” หรือ “ปล่อยไหลลงเขา” !!! รถมันก็ยิ่งเร็วขึ้นทวีคูณ แถมมีน้ำหนักส่งลงมาอีก พอจะเบรกก็ต้องเบรกหนักกว่าการคาเกียร์ไว้ใช้ เอนจิ้นเบรก ช่วยดึงรถไว้ ทำให้ระยะเบรกยาวขึ้นไปอีก ถ้าเกิดมีเหตุต้องเบรกกะทันหันล่ะ ??? หรือ เบรกหนักต่อเนื่องเกินไปจน “เบรกเฟด” หายไปเลยล่ะ ??? ก็คิดเอาเองนะว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้
ฝนตกจะล้างรถทำไม หมดฝนก่อนค่อยล้าง จะได้ไม่เปลืองตังค์
เจอเป็นปกติ หน้าฝนนี่ปล่อยรถจาก “เขรอะ” ไปยัน “เน่า” ด้วยเหตุผลน่ารักๆ ว่า หน้าฝน ฝนตก มรึงจะล้างรถทำไม ล้างแล้วฝนตกแมร่งก็เลอะอีก เปลืองค่าล้างเปล่าๆ รอหมดฝนแล้วล้างทีเดียวเลย” ได้แต่ตอบว่า “ครับ…………………..” (เรื่องของมรึงเลยครับ) พี่ก็ปล่อยรถพี่เน่าไปละกันครับ ผมไม่เอาด้วยแน่ๆ จริงอยู่ หน้าฝน ฝนตก รถมันก็ต้องเลอะ พอเริ่มเลอะมากขึ้น เราก็ควรจะ “ล้าง” เพื่อ “เคลียร์สิ่งสกปรกออกไปบ้าง” ไม่ให้มัน “หมักหมม” จนดูไม่เจริญตา เพราะถ้ารถเลอะแล้วเรายิ่งปล่อยไว้นาน มันจะเป็น “คราบสกปรกสะสม” ฝังไปในชั้นสี ทำให้สีหม่นหมองเร็วกว่าปกติมาก ล้างบ้างเถอะครับ ล้างแล้วตกก็ช่างมันเถอะ อย่างน้อยก็เคลียร์ของเก่าออกไป รถคุณก็จะดูใหม่ราศีจับเสมอ อย่าลืมเน้นการฉีดน้ำล้างที่ “ใต้ซุ้มล้อ” รวมถึง “ซอกมุมต่างๆ” ด้านล่างด้วยนะครับ เพราะตรงนั้นแหละที่มันจะเป็นที่สิงสถิตย์ของสิ่งสกปรกทั้งหลาย จากการดีดมาจากยาง พวกเศษทราย ขี้ดิน ขี้โคลน อันนี้ควรจะล้างเคลียร์ให้สะอาดหมดจดด้วยนะครับ…
เบรกย้ำๆ จะหยุดเร็วกว่า…หรา…
สุดท้าย ก็เจอกับตัวเองเหมือนกัน นั่งไปกับคนขับที่มีพฤติกรรม “ย้ำเบรก” ยิกๆ บอกตรงๆ โคตรเวียนหัวเลย คือ เบรกทีเดียวแล้วค่อยๆ ไล่น้ำหนักเท้าลงไปนุ่มๆ มันก็เบรกอยู่แล้ว ยิ่งรถสมัยนี้แทบไม่ต้องอะไรเลย พวก EBD มันทำให้ คือ “คุณไม่จำเป็นต้องย้ำอ่ะ” เหยียบไปเบรกมันก็จับ พอเหยียบๆ ปล่อยๆ ย้ำๆ เบรกก็จับๆ ปล่อยๆ “แล้วระยะเบรกมันจะดีขึ้นได้อย่างไร” รถก็ไม่เสถียร คนนั่งก็อ้วกแตก ระบบเบรกก็สึกหรอมากกว่าปกติ บางคนได้ยินมาผิดๆ ว่า การย้ำเบรกเลียนแบบการทำงานของ ABS ที่ให้ระยะการหยุดได้สั้นกว่า มันทำงานคนละอย่างกัน ABS จะจับปล่อยต่อเมื่อ “ล้อล็อกตาย” เพื่อให้ล้อหมุนบ้างจะได้คอนโทรลรถได้ แต่การเบรกปกติ “พี่ไม่ต้องย้ำก็ได้” กลัวล้อล็อกทำไม ในเมื่อรถสมัยนี้ก็มี ABS แทบทุกรุ่นอยู่แล้ว เว้นแต่รถรุ่นเก่าที่ ABS ยังไม่จุติ ก็ไม่จำเป็นต้องเบรกย้ำ เว้นแต่ถ้าเจอทางลื่นแล้วเบรกล็อก หรือ เจอเบรกรั่ว ก็ถอนมาแล้วไล่ลงไปใหม่ จะย้ำก็ได้แต่ทำอย่างนิ่มนวล “เหยียบย้ำ” นะครับ ไม่ใช่ “กระทืบย้ำ” จำไว้ขึ้นใจ
จริงๆ มันยังมีอีกเยอะ ในความเข้าใจผิดกับการใช้รถ แต่เรื่องที่เรายกตัวอย่างมานี้ จะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ แล้วมันก็ส่งผลเสียได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะเรื่อง “อันตราย” ที่เกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราไม่โทษกัน เพราะหลายคนก็ไม่ทราบข้อเท็จจริง อาจจะไปจำมาคลาดเคลื่อนแล้วนำมาใช้ ซึ่งจะเกิดโทษมากกว่าเกิดคุณ เราไม่อยากว่าใคร แต่เพราะ “เราเป็นห่วงคุณ” ถ้าเราเปลี่ยนวิธีการขับรถให้ถูกต้อง คุณจะได้ประโยชน์ตามมาอีกมหาศาลแบบที่คุณนึกไม่ถึงเลยก็เป็นได้
หมายเหตุ : รูปสำหรับประกอบบทความเฉยๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ
By:เค ไชยรัตน์ ไพศาลธนจิตร