เข็มขัดนิรภัยและหมวกนิรภัย เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยปกป้องผู้ขับขี่และผู้โดยสารไม่ให้ได้รับบาดเจ็บรุนแรง จึงช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพื่อความปลอดภัย ครั้งนี้เราจะมาแนะการคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกวิธี
เข็มขัดนิรภัยคืออุปกรณ์ช่วยฉุดรั้งมิให้ผู้ประสบเหตุพุ่งกระแทกอุปกรณ์ต่างๆ หรือผู้โดยสารคนอื่นภายในรถ รวมถึงป้องกันการกระเด็นออกนอกรถ
ผู้โดยสารทั่วไป
- คาดเข็มขัดนิรภัยแนบชิดลำตัว โดยส่วนล่างทาบกับกระดูกเชิงกราน ส่วนบนพาดทะแยงผ่านกระดูกไหปลาร้า
- ปรับระดับความตึงให้กระชับ สายไม่พลิกและบิดงอ เพื่อให้เข็มขัดนิรภัยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยพาดชิดลำคอ และใต้วงแขน เพราะเข็มขัดนิรภัยจะไม่สามารถเหนี่ยวรั้งลำตัวผู้ประสบอุบัติเหตุ ทำให้ได้รับอันตรายเพิ่มมากขึ้น
สตรีมีครรภ์
- คาดเข็มขัดนิรภัยพาดผ่านร่องอกลงมาด้านข้างของช่องท้อง ไม่คาดทับบริเวณหน้าท้องโดยตรง โดยให้สายเข็มขัดนิรภัยอยู่เหนือต้นขา
- ใช้หมอนใบเล็กหรือผ้าขนหนูรองบริเวณหน้าท้องส่วนล่าง จะช่วยลดแรงกดทับและการเสียดสีของเข็มขัดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กในครรภ์
- ปรับเบาะนั่งให้ห่างจากพวงมาลัยประมาณ 10 นิ้ว เมื่อประสบอุบัติเหตุจะช่วยลดการบาดเจ็บจากการกระตุกของเข็มขัดนิรภัย
ข้อควรระวัง
- ไม่ควรให้เด็กคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะสายเข็มขัดนิรภัยอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหราะสม เมื่อประสบอุบัติเหตุ จะเกิดแรงกระแทกและกระตุกอย่างแรง ส่งผลให้เด็กได้รับบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้นหรือเสียชีวิตได้
- เด็กสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้อย่างปลอดภัย เมื่อมีอายุ 9 ปีขึ้นไปมีน้ำหนักมากกว่า 30 กิโลกรัม หรือความสูงตั้งแต่ 140 เซ็นติเมตร เนื่องจากเด็กสามารถนั่งตัวตรง ห้อยขากับเบาะรถ และหลังพิงพนักได้ถนัด