เชื่อว่าหลายๆ คน มักเจอกับเหตุการณ์คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ที่บ้านยังยังขับรถอยู่ทั้งที่อายุก็เยอะมากแล้ว เป็นห่วงก็เป็นห่วงแต่ห้ามไม่ได้ แถมยังโดนดุอีก ในเมื่อห้ามไม่ได้เรามาหาวิธีป้องกันกันดีกว่า เพื่อความสบายใจทั้งสองฝ่าย
- ตรวจร่างกายสม่ำเสมอ
สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือโรคเกี่ยวกับ สายตากล้ามเนื้อและสมอง เพื่อที่จะได้ขับขี่อย่างปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุ
- ไม่ควรขับรถขณะฝนตก
เมื่อฝนตกถนนลื่นย่อมเสี่ยง ต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าปกติ เมื่อฝนตกหนักไม่ควรให้ผู้สูงวัย ขับรถด้วยตัวเองโดยเด็ดขาด
- ห้ามดื่มแอลกอฮอล์
รวมถึงยาที่มีฤทธิ์กล่อมประสาท ทำให้รู้สึกง่วงนอน มีเปอร์เซ็นต์ สูงมากที่จะเกิดเหตุอันตรายขึ้น
- ไม่ควรขับรถทางไกล
เพราะด้วยในระยะทางที่ไกล อาจจะทำให้รู้สึกเหนื่อย หรือ เพลียได้ง่าย แนะนำว่าให้หา เพื่อนร่วมทางไปด้วยจะดีที่สุด
- เช็คสภาพรถอยู่เสมอ
ควรนำรถไปตรวจเช็คสภาพ ให้พร้อมกับการเดินทาง เป็นวิธีลดความเสี่ยงสำหรับผู้สูงวัยที่ต้องเดินทางเพียงผู้เดียว
นอกจากการตรวจเช็คเบื้องต้นแล้ว การเป็นโรคต่างๆ ก็มีผลต่อการขับรถเช่นเดียวกัน โดยโรคที่มีผลต่อการขับรถมีดังนี้
1. โรคตา
ผู้ที่เป็นโรคตา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ทำให้ขับรถในเวลาโพล้เพล้หรือตอนกลางคืนแล้วมองไม่ชัด ในผู้ป่วยต้อหินยังอาจมีลานสายตาที่แคบทำให้มองเห็นภาพส่วนรอบได้ไม่ดี ผู้ป่วยโรคต้อหินจะมองเห็นแสงไฟบอกทาง ไฟหน้ารถพร่าได้
2. โรคทางสมอง
ผู้ที่สมองเสื่อม มีอาการหลงลืม ขับรถหลงทาง เลี้ยวผิดเลี้ยวถูก การตัดสินใจและสมาธิไม่ดี หรือแขนขาไม่มีแรงที่จะขับรถ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรกหรือเปลี่ยนเกียร์ได้ดี หรือความไวของการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ลดลง
3. โรคต่างๆ
โรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อการขับรถ และทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น
– โรคพาร์กินสัน ที่มีอาการแข็งเกร็ง มือสั่น บางทีมีเท้าสั่นด้วย ทำอะไรเชื่องช้าลง ทำให้ขับรถได้ไม่ดี
– โรคลมชัก ซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุมากกว่าคนหนุ่มสาว เมื่อมีอาการชัก จะเกร็ง กระตุก ไม่รู้สึกตัว ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
– โรคหัวใจ ทำให้อาจมีอาการแน่นหน้าอกเมื่อขับรถนานๆ เครียดจากรถติด
– โรคเบาหวาน ทำให้มีอาการหน้ามืด ใจสั่น สมาธิไม่ดี ตาพร่า ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำลง
– โรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการขับรถเช่น ข้อเข่าเสื่อม ทำให้เหยียบเบรกได้ไม่เต็มที่
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่ต้องกินยาหลายชนิด และมีผลทำให้ง่วงซึม เช่น ยาแก้เวียนศีรษะ ยาลดน้ำมูก ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ก็ส่งผลต่อการขับรถเช่นเดียวกัน