ช่วงหลังมานี้ได้ยินข่าวโศกนาฏกรรม คนข้ามถนนบนทางม้าลายอยู่บ่อยครั้ง เห็นแล้วไม่สบายใจสักเท่าไหร่ ทำให้ “เส้นซิกแซก” ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาภัยอันตรายจากข้ามถนนตรงทางม้าลาย เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้นเรามาทำความรู้จัก “เส้นซิกแซก” กันสักหน่อย…
รู้จักที่มาที่ไปของเส้นซิกแซก
สำหรับเมืองไทยแล้ว เส้นหยักหรือเส้นซิกแซก ถือว่าเป็นเครื่องหมายจราจรใหม่ สำหรับผู้ใช้รถบ้านเรา แต่กับเวทีโลก เส้นซิกแซก ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องหมายจราจรที่แพร่หลายไปทั่วโลก สหราชอาณาจักร, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, ฮ่องกง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ใช้เส้นซิกแซกเป็นเครื่องหมายเตือนบนผิวจราจร โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อให้รถชะลอความเร็วลงก่อนถึงทางม้าลาย และเมื่อมีผู้ข้ามถนนตรงทางมาลาย รถต้องหยุดเพื่อให้คนข้ามถนนก่อน จึงจะสามารถขับรถผ่านไปได้ หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ถือว่าฝ่าฝืนกฎจราจร
เส้นซิกแซก สัญลักษณ์บนท้องถนนที่คนไทยต้องปฏิบัติตาม
สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ได้แนะนำเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเส้นซิกแซก ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่นำร่อง ว่า จากการศึกษาพบว่า 33% ของคนเดินเท้าการมีสิ่งกีดขวางบริเวณทางเดินข้าม ทำให้ข้ามถนนได้ยากมากขึ้น เช่นเดียวกับ 40% ของผู้ขับขี่พบว่า การมีสิ่งกีดขวางใกล้ทางข้ามอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุแก่คนข้ามได้ สิ่งกีดขวางเหล่านั้นก็คือรถยนต์ซึ่งจอดอยู่บริเวณก่อนถึงทางม้าลาย เส้นซิกแซกจะเป็นเส้นที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยจะตีเส้นก่อนถึงทางข้ามในระยะ 15 – 30 เมตรขึ้นอยู่กับรูปแบบถนนและความเร็วของรถโดยเฉลี่ยบนถนนนั้น ซึ่งข้อกำหนดเกี่ยวกับเส้นซิกแซกที่ผู้ใช้รถและคนข้ามถนนควรจะต้องรู้คือ
- ถนนบริเวณที่มีการตีเส้นซิกแซกห้ามจอดรถโดยเด็ดขาด
- ถนนบริเวณที่มีการตีเส้นซิกแซกห้ามผู้ขับขี่แซงหรือเปลี่ยนเลนเฉียบพลันโดยเด็ดขาด
- ห้ามคนข้ามถนนบริเวณที่มีเส้นซิกแซกโดยเด็ดขาด และเชื่อว่าข้อกำหนดดังกล่าวจะช่วยลดอุบัติเหตุบริเวณทางม้าลายให้ลดลง และในอนาคตจะพลักดันให้เป็นกฎหมายบังคับใช้อย่างถูกต้อง