ขับอย่างไร ไม่ให้ “วาร์ป” เมื่อเจอ “น้ำ”
อะไรคือเหตุ อะไรคือผล “ป้องกันอย่างไร”
แม้ว่าเราจะเดินทางกันมาเกิน “ครึ่งปี” จนจะ “ปลายปี” อีกแล้ว บรรยากาศในการฉลองปีใหม่ อากาศเย็นๆ มีเวลาเที่ยวชิวๆ มันยังวนอยู่ในหัว ผ่านหนาว ผ่านร้อน ผ่านฝน แต่อีกไม่นานก็จะ “ปลายฝน ต้นหนาว” กันอีกแล้ว ก็ปล่อยเป็นเรื่องของอากาศ แต่ในตอนนี้ยังอยู่ในช่วงหน้าฝนอย่างเต็มระบบ และเรามีโอกาสได้เห็น “คลิปอุบัติเหตุ” จะชน จะคว่ำ จะหงาย เบาะๆ ก็ลงข้างทาง หนักๆ ก็คว่ำเละเทะ หรือ หลุดข้ามเลนไปปะทะรถฝั่งตรงข้ามก็เละทั้งสองฝ่าย เรียกว่าอีกฝ่ายไม่รู้เรื่องอะไรเลย กูขับมาดีๆ พวกข้ามมาชนซะงั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้เห็นกันประจำและเกิดขึ้นบ่อยมาก โดยเฉพาะตอนวิ่งผ่าน “แอ่งน้ำขัง” แล้วเกิดอาการ “วาร์ป” ไม่เอาถนนซะแล้ว ซึ่งเป็นเคสที่อันตรายเพราะแก้กันไม่ทัน เราคงไปโทษสิ่งแวดล้อมไม่ได้ แต่เรา “ควรรู้วิธีหลีกเลี่ยงและป้องกัน” ในขณะที่ขับรถท่ามกลางฝนตก ทัศนวิสัยแย่ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะ “รอดพ้นจากอุบัติเหตุ” ให้ได้มากที่สุด นั่นคือจุดประสงค์ที่เราจะมาคุยกันในครั้งนี้…
เหตุใดรถถึง “วาร์ป” ขณะเจอน้ำ
สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องแน่ๆ ในการขับขี่ขณะฝนตก ที่ถนนมีน้ำเจิ่งนอง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เรารู้ๆ กันก็คือ “ถนนลื่น” จาก “น้ำ” ที่ทำให้ “ความฝืดระหว่างหน้ายางกับผิวถนนลดลง” และที่แน่ๆ มันจะลื่นจากพวก “ฝุ่น ดิน” ที่ตกค้างอยู่บนถนน พอเจอน้ำก็จะกลายเป็นขี้เลน ถ้าไปเจอพวกทางกำลังก่อสร้างก็จะยิ่ง “เละ” สนุกกันไปใหญ่ ก็ยิ่งทำให้เกิดการลื่นได้มาก อันนี้แหละที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุกันบ่อยๆ ถนนเมืองไทยก็สุดแสนจะเรียบ สามวันแย่ สี่วันห่วย ขุดก็กลบ กลบก็ขุด ยิ่งกว่าหมากลบขี้ ถนนยิ่งแย่ก็ยิ่งอันตราย รถก็ยิ่งพัง อุบัติเหตุก็ยิ่งเกิดง่ายขึ้น…
ส่วนที่อันตรายที่สุด คือ “การเหินน้ำ” อย่างฝนตกหนักๆ มีน้ำเจิ่งนองอยู่หน้าผิวถนนมาก บางทีเราดูแล้วมันก็สิวๆ นิดหน่อยจะเป็นอะไรไป แต่หารู้ไม่ว่า พอรถวิ่งมาเร็วๆ หน้ายางกลิ้งมาเหยียบน้ำ ในช่วงขณะที่ยางรีดน้ำออกจากหน้ายางไม่ทัน น้ำที่อยู่บนผิวถนนนี่แหละ มันจะเกิดเป็น “ชั้น” คั่นกลางระหว่างผิวถนนกับหน้ายางของรถที่วิ่งมา จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “ไฮโดรเพลนนิ่ง” (Hydroplaning) หรือ “อควาเพลนนิ่ง” (Aquaplaning) ซึ่งคำว่า “ไฮโดร” หรือ “อควา”แปลว่า “น้ำ” ส่วน “เพลนนิ่ง” แปลว่า “ไส” หรือ “ไถล” หรือ “เหิน” มันก็ตรงตัวครับ อาการรถเหินน้ำ มันก็ไม่เกาะถนน ก็เลยเกิดอาการ “วาร์ป” ควบคุมรถได้ยาก หรือ คุมไม่ได้เลย จนทำให้เกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้น…
ทำไมรถถึงเหินน้ำได้ พูดง่ายๆ ก็หลักการที่ว่า “ไม่มีแรงดันใดๆ ทำให้ของเหลวยุบตัวได้” เมื่อน้ำขังอยู่บนถนน รถวิ่งมาทับ ตอนนั้นน้ำจะยังไม่ออกไปจากหน้ายางหมดในทันที ช่วงที่ปะทะนั่นแหละ น้ำจะเข้าไป “คั่นกลาง” และตัวน้ำเองจะกลายเป็น “ของแข็ง” เมื่อมีแรงปะทะ ทำให้รถลอยตัว และ “วาร์ป” นั่นเอง ตรงนี้หลายคนอาจจะค้าน ว่าน้ำเป็นของเหลว จะกลายเป็นของแข็งได้อย่างไร คนเขียนมึงเมากาวแล้ว !!! ลองดูครับ ลองโดดสูงๆ ลงน้ำแล้วเอา “หน้าอก” ปะทะน้ำดู หรือดูคลิปพวกเรือเร็ว แล้ว “เรือแตก” คนขับบินมากระแทกน้ำเหมือนกระแทกพื้นแข็ง ไม่ตายก็คางเหลือง ยิ่งมาแรงก็ยิ่งกระแทกแรงเป็นทวีคูณ ผมไม่อ้างถึงหลักทฤษฎีอะไรทั้งสิ้น อธิบายหลักง่ายๆ ภาษาบ้านๆ นี่แหละพอ เห็นภาพได้ชัดเจน…
จริงอยู่ครับ ว่า “ดอกยาง” จะทำหน้าที่ “รีดน้ำ” ออกไปจากหน้ายางให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าคุณมาเร็วเกินไป และมาเจอแอ่งน้ำที่มีน้ำขังจำนวนมาก ล้อหมุนเร็ว แรงขับมาก พอมาปะทะกับน้ำปริมาณมาก ดอกยางจะไม่สามารถรีดน้ำได้ทัน บางคนอาจจะมองว่า ยิ่งล้อหมุนเร็ว ดอกยางก็น่าจะสลัดน้ำออกไปได้มากด้วยสิ แต่คิดกันให้ครบถ้วน ล้อหมุนเร็ว เจอน้ำเยอะ มันก็ “กวักน้ำ” เข้ามามากเหมือนกัน ยิ่งเจอแอ่งน้ำก็ยิ่งเกิดไฮโดรเพลนนิ่งแรง รถก็จะ “เป๋” หรือ “สะบัด” ไปในทางแอ่งน้ำที่เราลงนั่นแหละครับ ถ้าใครเคยโดนจะรู้ทันทีว่า “รถลอย” ดูในคลิปประกอบท่านจะเห็นภาพได้อย่างชัดเจน ยิ่งมาเร็วก็ยิ่งควบคุมได้ยากจนเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอย่างที่เห็นกันบ่อยๆ นั่นเอง…
ตรงนี้ผมขอ “เน้นหนัก” เลยนะครับ เพราะ “ยางรถ” คือ “ส่วนเดียวที่สัมผัสกับพื้นถนน” ไม่ว่ารถคุณจะแรงหรือแพงแค่ไหน ช่วงล่างเทพ เบรกบรรลุฯ เพียงใด ท้ายสุดมันก็เกาะที่หน้ายาง ที่มีพื้นที่ในการเกาะถนนเพียง “หนึ่งฝ่ามือ” ต่อยาง 1 เส้น เท่านั้น ถ้ายางดี ช่วงล่างปกติ เรียกว่า “มีชัยไปกว่าครึ่ง” แต่ถ้า “ช่วงล่างเทพ” แต่ “ยางถ่อย” คือ “หมดสภาพ” ความเทพอะไรก็ไร้ประโยชน์ โดยปกติ หน้ายางจะมี “ดอกยาง” และ “ร่องยาง” (Groove) ที่มีคุณสมบัติในการ “รีดน้ำ” และ “สลัดน้ำ” ออกไป เพื่อให้หน้ายางสามารถแนบกับผิวถนนได้ ลดอาการเหินน้ำ รถก็ยังจะคงเกาะถนนอยู่ แต่ถ้า “ไร้ดอกยาง” เสียแล้ว หน้ายางโล้นๆ อย่างกะยางสลิคในรถแข่งสนามแห้งๆ หน้ายางก็จะ “อมน้ำ” เอาไว้ แล้วก็จะเกิดการเหินน้ำได้อย่างดาย !!!
ระวัง “ยางบางประเภท” ที่เหมือน “หมาบ้า”
โดยปกติ ยางรถทั่วไปก็จะออกแบบมาเน้นใน “ทางเปียก” อยู่แล้ว ทางแห้งโดยมากไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไรหรอก แต่ทางเปียกนี่แหละจะเป็นเรื่อง สังเกตได้ว่า ดอกยางสำหรับรถบ้านๆ จะมี “ร่องรีดน้ำถี่และเยอะ” เพื่อรีดน้ำออกไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่กับยางบางประเภท เช่น “ยางซิ่ง” ที่เหล่ารถแรงนิยมใช้กัน พวกนี้โดยมากจะออกแบบมาให้เน้น “ทางแห้ง” เพื่อการยึดเกาะสูงสุด โดยไม่เน้นการใช้งานสักเท่าไร การออกแบบดอกยางจะไม่เหมือนกับยางปกติ โดยเฉพาะเหล่า “ยางซอฟต์” ที่ให้การยึดเกาะสูง ออกไปในทางการ “แข่งขัน” แต่รถซิ่งที่มีตังค์หน่อยก็จะเอามาใส่วิ่งถนนกัน จะได้เรื่อง “ความเท่” รวมถึงการเกาะถนน ดอกยางประเภทนี้จะ “มีน้อย” ร่องก็ไม่ค่อยลึก โดยเน้นเนื้อยางสัมผัสผิวถนนมากๆ เป็นหลัก ถ้าทำดอกยางเยอะๆ เนื้อยางจะสัมผัสถนนน้อยลง ทำให้เกิดการ “โย้” ความมั่นคงลดลง ยางแบบนี้จะ “หมาบ้า” หรือ “กลัวน้ำ” เพราะการรีดน้ำทำได้ไม่ดี โอกาสเหิรน้ำก็มีมาก เป็นที่รู้กันว่าสายซิ่งก็ต้องถนนแห้งสิวะ ส่วนทางเปียกตัวใครตัวมัน ไปว่าผู้ผลิตยางห่วยก็ไม่ได้ เพราะเขาผลิตมาสำหรับแข่งขันทางแห้งเป็นหลัก ก็ย่อมต้องสูญเสียสมรรถนะในทางเปียกไปแน่นอน เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ตัวว่าใส่ยางประเภทนี้ ก็ต้อง “ระวังให้หนัก” กว่าปกติ ส่วนใหญ่คนเล่นรถที่ซื้อยางแบบนี้ใส่ ก็จะรู้กันอยู่แล้ว และโดยมากก็จะเป็นรถ “ขับเล่น” ในวันที่สภาพอากาศดีๆ พวกนี้ถ้าเจอฝนนี่ยิ่งกว่าคลาน เพราะรักรถมากกลัวจะไปหมั่งแล้วทำใจลำบาก เอาเป็นว่า สำหรับคนที่นิยมแต่งรถ แต่มีรถคันเดียว ต้องขับใช้งานในชีวิตประจำวันด้วย เรา แนะนำเอาแค่ “ยางสปอร์ต” ที่ครอบคลุมในการใช้งานทั่วไปจะดีกว่าครับ เพราะออกแบบมาใช้งานถนนเปียกได้ด้วย…
เช็คช่วงล่าง เบรก ให้มีความพร้อม
สำหรับเรื่องต่อมา นอกจาก “ยาง” แล้ว ยังมีเรื่องของ “ช่วงล่าง” ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมันคือการควบคุมทิศทางของรถ ถ้าช่วงล่างสมบูรณ์ การควบคุมรถก็จะเป็นไปอย่างแม่นยำ เดาอาการออก มีอะไรก็แก้ทางได้ง่ายหน่อย แต่กับช่วงล่างที่ไม่สมบูรณ์ เช่น บูชยางต่างๆ ลูกหมากต่างๆ “หลวม” หรือ “ฉีกขาด” ก็ยังหน้าด้านใช้ต่อทั้งๆ ที่รู้ เพราะยังไงมันก็มีอาการและเสียงดังครับ รถจะขับ “วอกแวก” คุมยาก เพราะชิ้นส่วนของช่วงล่างมันมีการ “ขยับแบบไร้ทิศทาง” อยู่ตลอดเวลา เราไม่รู้หรอกว่ามันจะขยับไปทางไหนบ้าง เรียกว่า “สี่ล้อไม่สามัคคี” แบบนี้อันตราย ยิ่งไปเจอแอ่งน้ำก็ยิ่งคุมรถได้ยาก ควรจะตรวจเช็คและซ่อมบำรุงให้สมบูรณ์เสมอ รวมถึงระบบเบรก ยิ่งถนนลื่น เบรกห่วยก็ยิ่งไปกันใหญ่ แทนที่จะเบรกอยู่ก็เสือกไหลไปชนตูดคันอื่น จริงๆ รถสมัยใหม่มี ABS แล้วก็จริง แต่ถ้าเบรกหมดอายุ ผ้าเบรกสึก จานเบรกสึกเกินไป ประสิทธิภาพในการหยุดรถก็จะแย่ลง ต่อให้มี ABS ก็อาจจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก อย่าไปพึ่งมันมาก ทำเบรกให้สมบูรณ์ไว้ก่อนเถอะ…
ไฟส่องสว่างต่างๆ และ ระบบปัดน้ำฝน ต้องใช้งานได้ครบ
อันนี้เรื่องง่ายๆ แต่คนชอบลืม พวกไฟส่องสว่างต่างๆ เช่น ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเบรก ไฟเลี้ยว ที่เป็นระบบพื้นฐานของตัวรถ บางทีใช้ๆ ไป หลอดขาดบ้าง อะไรเสียบ้าง ไฟหน้าถ้าขาดไป เจอฝนตกมากๆ ก็มองไม่เห็นทาง รถรอบด้านก็ไม่เห็นเรา ถ้าเหลือดวงเดียว คนก็จะคิดว่าเป็น มอเตอร์ไซค์ กะไม่ถูกว่าเป็นรถใหญ่ ไฟเลี้ยวถ้าขาด รถที่วิ่งมาจะไม่รู้ว่าเราจะเลี้ยว ไฟเบรกขาด ก็สบายดี พวกจูบดากเข้าให้ อีกอันก็คือ “ปัดน้ำฝน” ถ้าใบปัดเสื่อม กระจกท่านก็จะ “ลาย” สวยงาม แต่มองไม่เห็นทาง ปัดน้ำฝนทำงานไม่ครบจังหวะ หรือ “มอเตอร์หมดแรง” ปัดอืดๆ จะตายให้ได้ ถ้าเจอฝนหนักๆ ก็ปัดไม่ทัน ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็เป็นต้นเหตุในการเกิดอุบัติเหตุได้ อันนี้ควรหมั่นเช็คว่ามันทำงานได้ครบถ้วนหรือเปล่า ถ้าไม่ครบก็รีบซ่อมซะให้เรียบร้อย เพราะเหตุเล็กๆ ก็ทำให้เหตุใหญ่ๆ เกิดขึ้นได้ครับ อย่าประมาททีเดียวเชียว…
ทำความสะอาดและเคลือบน้ำยากระจก
กระจกรถยนต์ ถ้าปล่อยให้มัน “เน่า” คนที่ไม่ค่อยใส่ใจล้างรถ กระจกมันจะเป็น “คราบ” จากละอองน้ำมันจากไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละอองต่างๆ ที่พอเจอน้ำฝนแล้วกลายเป็น “เละ” มองไม่เห็นทาง แนะนำว่า ควรจะทำความสะอาดกระจกบ่อยหน่อย (ไอ้ตัวรถยังไม่ต้องล้างก็ได้ถ้าขี้เกียจ) อย่างน้อยก็เช็ดให้สะอาด ใช้น้ำยาเช็ดกระจกเป็นตัวช่วย จะให้ดีก็ “เคลือบน้ำยากันน้ำเกาะ” จะช่วยเพิ่มการมองให้ชัดเจนขึ้น โดยการเน้นเคลือบกระจกบานที่ “ต้องมองผ่านบ่อยที่สุด” คือ บานบังลมด้านหน้า บานประตูหน้าทั้งสองฝั่ง เพราะเราต้องมองกระจกข้าง เคลือบเลนส์กระจกมองข้างด้วยยิ่งดี แล้วก็ บานหลัง ที่เวลามองรถหลัง ถ้าไม่เคลียร์ก็เกิดปัญหาได้เหมือนกัน…
ทักษะต้องมี & ตั้งสติก่อนสตาร์ท
บางทีการเหินน้ำจนเกิดอุบัติเหตุ มันก็กระทันหันเหมือนกันนะ เพราะมันสังเกตได้ยากในบางจุด ดูเผินๆ ก็เหมือนน้ำแฉะๆ ธรรมดา แต่ลงไปทีแม่งเอ๊ยยยย หยั่งกะโดดลงอ่างรัชดา ประการแรก “หลีกเลี่ยงการลงแอ่งน้ำ” โดยมากมันจะอยู่ตาม “ไหล่ทาง” ฝั่งซ้าย แต่อาจจะมี “ฝั่งขวา” ได้ ตามที่ถนนเทไป การขับรถก็ต้องหมั่นสังเกตหน่อย ดูถนนยาวๆ สังเกตถึงสิ่งที่อยู่บนถนน อย่าขับไปแชทไป สำคัญ “อย่าใช้ความเร็วสูง” เพราะมันจะแก้ไขอะไรไม่ทัน และยิ่งทำให้เกิดเหตุร้ายแรงมากขึ้น เมื่อเจอแอ่งน้ำ ต้อง “ลดความเร็ว” เพื่อ “หลีก” การหักพวงมาลัยก็ทำอย่างนุ่มนวลด้วยนะครับ ห้ามกระชากพวงมาลัย รถจะกลายเป็นเสียอาการ ถ้าจำเป็นต้องเบรก ก็เบรกอย่างนุ่มนวล ไม่ใช่กระทืบเบรกแรงๆ รถหลังได้เสยเอา และยิ่งทำให้รถเสียอาการ ต่อให้มี ABS, EBD, Traction Control ห่าเหวอะไรก็ตามเถอะ มันเป็นแค่ “ตัวช่วยประคอง” อย่าไปคิดว่ามันเป็นของวิเศษที่ปกป้องคุณได้เต็มร้อย ถ้ามาแบบบ้าคลั่งอะไรก็ไม่รอดหรอก…
อีกอย่าง เมื่อต้องขับรถลงแอ่งน้ำ ก่อนอื่นอย่างที่บอก “ลดความเร็ว” ลงให้เหมาะสม อันนี้บอกไม่ได้ว่าเท่าไร คนขับต้องประเมินสถานการณ์เอง (ถ้าประเมินไม่ได้ ควรพิจารณาตัวเอง) ตอนที่ลงแอ่งน้ำ ควรจะ “ประคองพวงมาลัย” ให้ดี ถ้าลงแอ่งน้ำข้างเดียว พวงมาลัยจะดึงไปทางนั้น เราค่อยๆ Recover ดึงแก้กลับมาอย่างนิ่มนวล “ห้ามตกใจกระชากพวงมาลัยกลับเด็ดขาด” จะยิ่งทำให้รถเสียการควบคุม ส่วนเรื่องการเบรก ถ้าจำเป็นต้องเบรกจริงๆ ต้องเบรกด้วยความนุ่มนวลด้วย พอเริ่มผ่านแอ่งน้ำ ให้ “แตะคันเร่งประคอง” ให้รถมี “แรงขับที่ล้อ” เพื่อที่จะรักษาทิศทางไว้ได้ กรณี รถเกียร์ธรรมดา “ห้ามเหยียบคลัตช์” เพราะถ้าปล่อยฟรี ล้อขับเคลื่อนจะไม่มีแรงขับ ทำให้รถไม่เกาะถนนครับ…
บทสรุป ใช้ความเร็วที่เหมาะสม เป็นตัวกำหนดทุกสิ่ง
อาจจะดู “เยอะ” หน่อย ก็อย่าเพิ่งว่ากัน เลือกเอาไปใช้ตามสถานการณ์ หากอ่านแล้วไม่เห็นเหมือนเซียนคนนั้นคนนี้เขียนไว้ ก็อย่าดราม่า เพราะเป็น “ประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละบุคคล” อุบัติเหตุไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเมื่อไร แต่ “เราสามารถลดได้” เพียงแต่ “ตั้งสติ” เวลาขับรถ ยิ่งฝนตกก็ยิ่งต้องโฟกัสสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่เรา “คุมตัวเองได้” ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ เอาเป็นว่า ถ้าคุณมาด้วยความเร็วที่ “เหมาะสม” ไม่เร็วเกินเหตุ “ทิ้งระยะห่างจากคันหน้าให้มากกว่าปกติ” เพื่อเผื่อระยะเบรกและระยะหักหลบ ที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด “ขับรถอย่างมีสติตลอดเวลา” รวมถึง “มีทักษะติดตัวบ้าง” คุณจะสามารถควบคุมอย่างที่กล่าวมาได้ทั้งหมด ก็ขอให้ขับรถในหน้าฝน และ ทุกๆ หน้า ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขครับ…