การทำใบขับขี่ใหม่ การต่ออายุขับขี่ หรือการเปลี่ยนประเภทใบขับขี่ก็ตาม ต้องดำเนินการด้วยตนเองทุกขั้นตอนผู้อื่นไม่สามารถดำเนินการแทนได้ อย่าได้เชื่อบุคคลที่แอบอ้างรับอาสาดำเนินการให้เพราะอาจได้รับใบขับขี่ปลอม และเมื่อนำไปใช้จะมีความผิดอาญาฐานใช้เอกสารราชการปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1–10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000–200,000 บาท ที่สำคัญการทำใบขับขี่ในปัจจุบันสามารถติดต่อได้ทุกสำนักงานขนส่งทั่วประเทศ โดยไม่จำกัดภูมิลำเนา
การสังเกตใบอนุญาตขับรถว่าเป็นฉบับจริงหรือไม่
กรณีเป็นใบอนุญาตขับรถรูปแบบใหม่ (Smart Card) ให้สังเกตว่า ด้านหน้าบัตรจะต้องมีภาพธงชาติไทย มีรูปตราสัญลักษณ์กรมการขนส่งทางบก (พระมาตุลีเทพบุตร) ซึ่งเป็นลายน้ำ 7 สี และมีรูปกราฟฟิกตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด และต้องติดสติ๊กเกอร์ Hologram ภาพสะท้อนแสง พร้อมระบบป้องกันการปลอมแปลงซึ่งซ่อนอยู่ในบัตร มีข้อมูลของผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถที่เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ภาพถ่ายของผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถเป็นภาพถ่ายจริง ณ วันที่ทำใบอนุญาตขับรถ และระบุจังหวัดที่ออกใบอนุญาตขับรถ ส่วนด้านหลังบัตร จะมีแถบแม่เหล็กเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ มีการบันทึกข้อจำกัดในการใช้ใบอนุญาตขับรถ (ผู้พิการต่าง ๆ) มีภาพอธิบายประเภทของรถที่ได้รับอนุญาตตามชนิดของใบอนุญาตขับรถ มีลายเซ็นของนายทะเบียนจังหวัดที่ออกใบอนุญาตขับรถ ระบุชื่อแบบพิมพ์ตามชนิดของใบอนุญาตขับรถพร้อมเลขคุมฉบับเพื่อใช้ในการตรวจสอบว่าสำนักงานใดเป็นผู้ออกใบอนุญาตขับรถ และระบุที่อยู่ของผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถตามข้อมูลของทะเบียนราษฎร์
ใบอนุญาตขับรถรูปแบบเก่า (แบบกระดาษ)
ให้สังเกตจากวัสดุที่ใช้พิมพ์เป็นกระดาษซีเคียวริตี้ (Security) มีลายน้ำในตัวมีไฟเบอร์ 2 ชนิดในเนื้อกระดาษ คือ ชนิดที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างน้อย 2 สี และชนิดที่ต้องส่องด้วยรังสีเหนือม่วง อย่างน้อย 1 สี ภาพหรือลวดลายที่เกิดจากการใช้เส้นที่มีความหนาไม่เท่ากัน ลวดลายเส้นแบบในธนบัตร (Guilloche) เป็นการนำเส้นโค้งไขว้กันทำให้เกิดเป็น Pattern หรือภาพลายดอกไม้ การใช้หมึกที่มีคุณสมบัติพิเศษ (Optical Variable Ink) เมื่อมองมุมหนึ่งจะเห็นเป็นสีหนึ่ง และเมื่อเปลี่ยนมุมจะเห็นเป็นอีกสีหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถเลียนแบบได้ด้วยการถ่ายเอกสาร และการใช้ Artscreen ด้วยการนำตัวอักษรที่มีความหนาบางมาประกอบกันทำให้เกิดภาพ
หากพบว่ามีผู้ใดแอบอ้างว่าสามารถจัดหาใบอนุญาตขับรถให้ได้โดยไม่ต้องทดสอบ ผู้ที่หลงเชื่ออาจจะได้รับใบอนุญาตขับรถปลอม และหากตรวจสอบพบมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นบุคคลใดมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ หรือได้รับการติดต่ออาสาดำเนินการแทน สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที เพื่อป้องกันการสนับสนุมิจฉาชีพโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด รวมถึง หากตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานมีเจตนาร่วมกระทำผิด จะดำเนินการทางวินัยทันที
แต่ถ้ามีจริง…ก็ทำให้ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนใช้รถบนท้องถนนส่วนหนึ่งถึงไร้มารยาทและขาดวินัยในการขับขี่ ซึ่งในเรื่องนี้ถ้ามองถึงมาตรการป้องกันก็ต้องยกให้กับ “กรมการขนส่งทางบก” ในการตรวจสอบกวดขัน รองลงมาก็เป็น “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ผู้ตรวจสอบบนท้องถนน ถ้าเอาจริงก็สามารถจับได้ไม่ยากนักเพราะคนผิดอยู่ใกล้ๆ ตัว