เรามักเคยได้ยินคำแนะนำ (ผิดๆ) มาตลอดว่าเวลาเจอด่านตรวจแอลกอฮอล์ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น (รวมถึงการเป่าแอลกอฮอล์) เพื่อรักษาสิทธิ์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีสิทธิ์ในการบังคับ แต่รู้หรือไม่ว่าการกระทำเช่นนี้มีความผิดเต็มประตู ซึ่งจะโดนข้อหาอะไรบ้างมาดูกัน
การกระทำความผิดโทษเมาแล้วขับ ไม่ยอมเป่าเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์
- ข้อหาขับขี่รถในขณะเมาสุรา ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2542 มาตรา 43 (2) ซึ่งห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น โดยบทกำหนดโทษเป็นไปตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2542 มาตรา 160 ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้น มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
- ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ให้ทำการทดสอบผู้ขับขี่ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2542 มาตรา 142 วรรคสอง ในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ หรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ โดยบทกำหนดโทษเป็นไปตาม มาตรา 154 (3) ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 142 วรรคสอง ต้องระวางปรับครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท
ทั้งนี้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2542 มาตรา 142 วรรคสอง ได้บัญญัติว่า ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้น้ันยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้น้ันฝ่าฝืน มาตรา 43 (2) (สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นขับขี่รถในขณะเมาสุรา แม้ไม่ยอมทดสอบ)
- ยังโดนโทษศาลตัดสินพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 6 เดือน และให้คุมประพฤติ และบำเพ็ญประโยชน์, เข้าอบรมความรู้เกี่ยวกับจราจร 1 ครั้ง, ห้ามออกจากที่พัก ระหว่างเวลา 22.00 น.-04.00 น. พร้อมทั้งมีการติดเครื่องติดตามบุคคลที่บริเวณข้อเท้าสำหรับคุมประพฤติจำเลยรายดังกล่าว เพื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัดอีกด้วย